วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552

แม่กลองแคมป์


แนะนำที่ท่องเที่ยว www.maeklongcamp.com

ทริปต่อไปต้องไปให้ถึง

บรรยากาศตอนเช้าที่หลวงพระบาง

วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552

เชียงคาน-แก่งคุดคู้


อำเภอเชียงคาน
เป็นอำเภอเล็กๆแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย บรรยากาศคล้ายทางภาคเหนือมีความเงียบสงบและความบริสุทธิ์สดใสเสมือนสาวน้อยวัยละอ่อน บริสุทธิ์สดใส มีประเพณีและวัฒนธรรมที่งดงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าประทับใจ
ครั้งหนึ่ง ได้มาเยือนทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจกับภาพที่งดงามของเชียงคาน เช่น สถาปัตยกรรมการออกแบบโบสถ์ที่งดงาม ซึ่งที่นี่มีวัดถึง 6 วัด จึงไม่น่าแปลกว่าที่คนที่นี่มีความสามัคคี มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยแต่ละบ้านจะมีการพาสมาชิกในครอบครัวใส่บาตรทุกเช้าโดยมีผู้ใหญ่เป็นต้นแบบ ซึ่งในวันสำคัญจะพาลูกหลานไปทำกิจกรรมที่วัดและปฏิบัติธรรมเป็นภาพที่งดงามอย่างยิ่งนอกจากนี้ เชียงคานมีเรือนไม้เก่าคลาสิคมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามริมแม่น้ำโขงที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ และยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆเช่น


แก่งคุดคู้
เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร ประกอบด้วยหินก้อนใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมากจากการที่หินเหล่านี้อยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน ทำให้หินเหล่านี้มีสีสันไปต่าง ๆ ตัวแก่ง กว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง มีกระแสน้ำไหลผ่านไปเพียงช่องแคบ ๆ ใกล้ฝั่งไทยเท่านั้นเอง ซึ่งกระแสน้ำเชี่ยวกราก เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้ที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้ง มองเห็นเกาะแก่งชัดเจน บริเวณแก่ง มีร้านอาหารจำหน่ายมากมาย
ภูทอก
นับเป็นจุดที่เราสามารถชมวิวอำเภอเชียงคานและลำน้ำโขงได้เป็นอย่างดี ด้วยการที่ภูทอกเป็นภูเขาสูงริมแม่น้ำโขง เราจึงสามารถชมทิวทัศน์รอบๆ ได้ เช่นตัวอำเภอเชียงคาน

บ้านหาดเบี้ย
เป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำโขง อาชีพของชาวบ้านในแถบนี้จะเก็บก้อนหินจากแม่น้ำโขงขึ้นมาขายทั้งที่เป็นรายได้เสริม และรายได้หลัก หินที่เก็บมานี้จะมีสีสันสวยงาม ลวดลายดูแปลกตา มีราคาแตกต่างกันไป

หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ

ตั้งอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน การเดินทางใช้เส้นทางเมืองเลย-เชียงคาน ระยะทาง 38 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางไปบ้านนาสี จนถึงบ้านนาป่าหนาด อีกประมาณ 10 กิโลเมตร ชาวไทดำได้อพยพมาจากเมืองเชียงขวางประเทศสปป.ลาว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2448 มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ปัจจุบันยังมีการอนุรักษ์ วัฒนธรรมและความเชื่อสืบต่อกันมา ภายในหมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำมีบ้านซึ่งสร้างขึ้นตามแบบเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชาวไทดำ รวมทั้งเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตและยังมีการรวมกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองของชาวบ้าน

วัดศรีคุณเมือง
ตั้งอยู่ที่ซอย 7 ถนนชายโขง ทางด้านเหนือของตลาดเชียงคาน มีกำแพงแก้วล้อมรอบตัวพระอุโบสถ สร้างในแบบแปลกตา รูปร่างคล้ายโบสถ์ตามวัดภาคเหนือ ด้านหน้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรฝาผนังอยู่เต็มหน้าบัน ภาพทั้งหมดเป็นภาพนิทานชาดกชุดพระเจ้าสิบชาติ

วัดท่าแขก

เป็นวัดเก่าแก่โบราณ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคาน 2 กิโลเมตร ก่อนถึงหมู่บ้านน้อยและแก่งคุดคู้ปัจจุบันเป็นวัดธรรมยุติ ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูป 3 องค์ สกัดจากหินแกรนิตทั้งก้อน หน้าตักกว้าง 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก

พระพุทธบาทภูควายเงิน

ตั้งอยู่ที่บ้านอุมุง ตำบลบุฮม ตามเส้นทางสายเชียงคาน-ปากชม ระยะทาง 6 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านผาแบ่นมีทางแยกเข้าบ้านอุมุง 3 กิโลเมตร จะถึงทางขึ้นเขาเป็นทางลูกรังระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นรอยพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่บนหินลับพร้า (หินลับมีด) ประชาชนเคารพนับถือมาก จะมีงานเทศกาลประจำปีในวันเพ็ญเดือน 3 หรือเดือน 4 ของทุกปี
พระใหญ่ภูคกงิ้ว
เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพระพุทธนวมินทรมงคลลีลาทวินคราภิรักษ์ ตั้งอยู่ที่ภูคกงิ้ว บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาบริเวณปากลำน้ำเหืองจรดกับแม่น้ำโขง เป็นพระพุทธรูปปางลีลาประทานพร หล่อด้วยไฟเบอร์ผสมเรซิ่นสีทองทั้งองค์ สูง 19 เมตรตัวฐานกว้าง 7.2 เมตร สร้างขึ้นโดยกองทัพภาคที่ 2 และประชาชนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2542 และในมหามงคลแห่งราชพิธิราชาภิเษก ครบ 50 ปี พ.ศ. 2543 สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2544 บริเวณโดยรอบสามารถชมทัศนียภาพที่สวยงามของแม่น้ำโขง และประเทศลาวได้ การเดินทาง จากตัวเมืองเลยทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-เชียงคาน) ไป 47 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณสามแยกตรงไปจนถึงบ้านท่าดีหมี่ แล้วเลี้ยวขวาที่โรงเรียนบ้านท่าดีหมี่ ไปอีกประมาณ 2 กม.

การเดินทางไปเชียงคาน
โดยรถส่วนตัว
จากกรุงเทพใช้ทางหลวงหมายเลข 1(พหลโยธิน) เมื่อถึงจ. สระบุรีใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่าน อ. ปากช่องลำตะคองแยกซ้ายเข้าอ.สีคิ้ว จ. นครราชสีมาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอ.ด่านขุนทดเข้าสู่ จ. ชัยภูมิ แยกขวาและไปตามทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอ. คอนสวรรค์ อ. แก้งคร้อ ,อ. ภูเขียว,อ.ชุมแพ จ. ขอนแก่น เมื่อเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 12 แยกซ้ายไปทางอ .คอนสาร จากนั้นแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 201 สู่เขต จ.เลยอีกที ที่ภูผาม่าน ผ่านภูกระดึง วังสะพุง ถึงตัวเมืองเลย สุดท้ายแยกขวาสู่ อ.เชียงคาน รวมระยะทางประมาณ 597 ก.ม.2. โดยรถสาธารณะ - บริษัทขนส่งมีรถโดยสารประจำทางวิ่ง กรุงเทพฯ-เลย เฉพาะวันศุกร์และวันอาทิตย์ www.transport.co.th

เที่ยวอย่างไรในเมืองเชียงคาน

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของเมืองเชียงคาน รถจักยานยนต์และรถจักรยาน ถือเป็นพาหนะที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งรีสอร์ท และ เกสต์เฮาส์แต่ละแห่งก็จะมีคอยให้บริการอยู่แล้ว หากต้องการเดินไปแก่งคุดคู้ก็ไปเช่าหารถสกายแล็ปแถวตลาด ราคา 100 บาท

เทศกาลท่องเที่ยวที่เชียงคาน

ในช่วงวันเทศกาลท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่ วันสงกรานต์ซึ่งจะมีขบวนแห่สงน้ำพระพุทธรูปตลอดเส้นทางถนนกลางเมืองและมีการเล่นสงกรานต์คล้ายเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างมาเล่นร่วมกันเป็นบรรยากาศที่สนุกมาก อีกงานหนึ่งคือ เทศกาลงานออกพรรษาที่เชียงคาน ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนตุลาคมนั้นจะมีขบวนแห่เทียนออกพรรษา โดยแต่ละคุ้มวัดจะร่วมแรงร่วมใจกันทำเทียนประดับรถโดยใช้เวลาทำร่วมเดือนด้วยความสามัคคี มีการประกวดขบวนรถแห่เทียน ประกวดเทพีงานออกพรรษา แข่งขันเรือยาว คล้ายงานวัดเป็นงานที่สนุกมากถือได้ว่าเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆปี ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเริ่มรู้จักและเข้ามาเที่ยวมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงเทศกาล ตามเกสเฮ้าหรือรีสอร์ทแทบจะไม่ว่าง ถ้าจะให้สะดวกจริงคงต้องจองก่อนล่วงหน้า หากต้องการชมบรรยากาศยามเย็นในตัวอำเภอก็จะมีสวนสาธารณะริมแม่น้ำโขงที่บรรยากาศดีมากๆ จะมองเห็นทิวทัศน์โขดหิน เกาะแก่งสวยงามกลางน้ำและเป็นที่ออกกำลังกายได้อย่างดี

ตำนานเล็กๆที่เล่าต่อกันมาของแก่งคุดคู้

แก่งคุดคู้มีเรื่องเล่าหรือตำนานที่กล่าวกันมาตั้งแต่โบราณ เมื่อได้สอบถามคนเก่าแก่ท่านได้เล่าให้ฟังว่า มียักษ์ตนหนึ่งต้องการกั้นแม่น้ำโขงไว้เป็นของตน ทุกๆวันจะหาบหินมากั้นทางน้ำ เมื่อเหนื่อยก็จะมานอนพัก แล้วเด็กๆจะพากันมาเล่นลูกสะบ้าในจมูกและรีบออกมา แล้วในวันหนึ่งยักษ์ตนนั้นได้ใช้คานหาบหินจนคานหักและบาดคอตายทันที ทำให้กั้นแม่น้ำโขงไม่เสร็จ จึงทำให้เห็นหินขวางแม่น้ำโขงเป็นช่องว่างทางน้ำไหล ซึ่งถ้าสังเกตดูดีๆ หากไปเที่ยวแก่งคุดคู้จะมีโขดหินยื่นออกมาจากทางประเทศลาวที่มีช่องทางน้ำไหล ซึ่งมองดูแล้วก็สวยงามเป็นธรรมชาติไปอีกแบบหนึ่ง
แก่งคุดคู้มนต์เสน่ห์ของเชียงคาน

แก่งคุดคู้ชาวเชียงคานถือเป็นสวรรค์บนดินเพราะจุดหักโค้งของสายน้ำนานาชาติแห่งนี้มีเกาะอยู่กลางลำน้ำที่เพิ่มเสน่ห์ให้ชวนมองยิ่งนัก ป่าธรรมชาติเขียวขจี ภูเขาน้อยใหญ่ที่เรียงรายอยู่ฟากฝั่งลำน้ำโขงด้านเมืองสานะคาม แขวงไชยบุรีของลาว เหมือนภาพวาดของจิตรกรมือเอกที่ช่วยเสริมให้หาดทรายงามระยับ เกาะแก่งที่รับกับสายน้ำคดเคี้ยว ดูมีเสน่ห์ชวนให้หลงไหล
แก่งคุดคู้จะมีทั้งร้านอาหารทีจัดไว้บริการนักท่องเที่ยวและเป็นซุ้มมุงหญ้าคาแถวยาวเป็นระเบียงไม่ไผ่นั่งรับประทานอาหาร อย่างเป็นระเบียบริมหาดทรายที่ขาวสะอาด อากาศเย็นสบายเป็นธรรมชาติ มีอาหารหลากหลายชนิดไว้บริการ ส่วนอาหารที่ขึ้นชื้อคือ กุ้งเต้น โดยการนำกุ้งเล็กๆสดๆมาใส่เครื่องยำ รสชาติอร่อยมาก และยังมี กุ้งนอน ก็คือการนำกุ้งสดมาทอดกรอบเป็นแผ่นบางๆ กินกับส้มตำสูตรเด็ดของเชียงคานซึ่งจะไม่มีกลิ่นคาวปลาร้ารสชาติอร่อย และต้มยำปลาน้ำโขง โดยนำปลาน้ำโขงจริงๆมาทำต้มยำอร่อยมากทีเดียว

อาหารขึ้นชื่อของเชียงคาน

ตำซั้ว เป็นส้มตำแต่ใส่ขนมจีนร้อนลงไปด้วย จุดเด่นจะอยู่ที่เส้นขนมจีนที่เหนียวนุ่ม ไม่มีกลิ่นเปรี้ยว โดยการหมักที่มีเคล็ดลับเฉพาะ เส้นขนมจีนจะเหนียมนุ่มมีคุณภาพ นำมาผสมส้มตำแล้วอร่อยมาก หรือจะกินขนมจีนเปล่าร้อนๆใส่น้ำจิ้มก็อร่อย ชาวเชียงคานจึงนิยมรับประทานกันมากทำให้มีร้านขนมจีน-ส้มตำเกิดขึ้นมามากมาย

ห่อหมก ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมกหน่อไม้ หมกปลาน้ำโขง หมกไข่ปลา หมกสมอง ที่มีสูตรพิเศษทำได้อร่อยมาก ราคาไม่แพง ประมาณ 10-20 บาท

น้ำพริก หรือเรียกตามภาษาพื้นบ้านว่า แจ่วบอง เป็นอาหารที่นิยมรับประทานกับผักนึ่ง จุดเด่นอยู่ที่พริกจะคั่วให้หอมนำมาตำกับเครื่องเทศต่างๆอร่อยมาก นิยมทำขายเป็นของฝาก ราคาไม่แพง ประมาณ 5-20 บาท

แหนมหมู รสชาติไม่เปรี้ยวไม่มีสารกันบูด หมักโดยวิธีธรรมชาติ รสชาติหอมอร่อย นำมาทานสดๆจะทอด หรือจะใช้ประกอบอาหารอย่างอื่นก็อร่อย ห่อด้วยใบตองสด ราคา 50 บาท

มะพร้าวแก้ว เป็นของฝากที่ขึ้นชื่อ นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝาก รสชาติหอมหวาน มีทั้งชนิดเส้นและชนิดแผ่น ราคา 50-120 บาท

ของที่ระลึก

ผ้าห่มนวม เชียงคานเป็นแหล่งผลิตผ้าห่มนวมที่ใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดเลยนิยมทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยการผลิตที่มีคุณภาพราคาไม่แพงเกินไปมีหลายสีหลายลายให้เลือกตามใจชอบ เป็นอีกสินค้าหนึ่งที่ทำรายได้แก่ชาวเชียงคาน ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝากเช่นกัน

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552

ขุนแม่ยะ


จันทร์เต็มดวงใกล้จะลับขอบฟ้าเต็มทีแล้ว เมื่อเราเปลี่ยนไปขึ้นรถกระบะ ที่บริเวณด่านแม่ยะ กม.67+500

อำเภอปาย อุณหภูมิที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ไว้ว่าจะต่ำลงอีก 3 องศาฯ เล่นเอาปวดกระดูก เพราะลำพังแค่เสื้อกันหนาวหนึ่งตัว กับผ้าพันคอหนึ่งผืน ไม่ช่วยให้ค่ำคืนอันแสนทรมานคืนนี้อบอุ่นขึ้นได้เลยหากทะเลหมอกที่ใครๆ ต่างจดจ้องมีสีขาวนวลชวนมอง ม่านฝุ่นสีแดงที่คละคลุ้งอยู่ตรงหน้า ก็เรียกความสนใจจากทุกชีวิตท้ายกระบะได้ไม่ยาก เพราะเมื่อกระทบกับแสงไฟ มันก็คล้ายการร่ายรำของธุลีที่สะกดทุกสายตาได้ดีนี่เองเวลา 45 นาที ที่ใช้ไปกับระยะทางเพียงแค่ 8 กิโลเมตร คงไม่ต้องสรรหาถ้อยคำไหนมาอธิบายสภาพของถนนได้อีกหนาวก็หนาว นานก็นาน มันเป็นการ ‘ไปถึง’ ที่ยากเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

แม่ยะ ขุนเขาแห่งดอกไม้เทวดา

“ดูสิ ----›”
เมื่อลองพลิกโปสการ์ดในมือตามคำเชื้อเชิญ ก็พบว่ามีดอกไม้สีชมพูแข่งกันเบ่งบานอยู่เต็มพื้นที่ของแผ่นกระดาษขนาด 4x6 นิ้ว มุมซ้ายมือด้านบนมีตัวหนังสือเล็กๆ สีน้ำเงินเขียนไว้ว่า ‘หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ, จ.แม่ฮ่องสอน’ฉันยืนอยู่ที่ความสูงราว 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่นี่คือ หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ ตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ความมืดมิดของรัตติกาลทำให้ดอกไม้ไม่เป็นสีชมพูเหมือนดังภาพ รออีกราวชั่วโมงเศษ เมื่อแสงแรกของวันค่อยๆ ส่องสว่างนั่นแหละ จึงได้อุทานออกมากับภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าไม่ได้ตกหลุมรักจนตาบอด(สี) แต่นี่มันภูเขาสีชมพูชัดๆ!มนูศักดิ์ เดี่ยววาณิชย์ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ บอกว่าต้นไม้ที่มองเห็นเป็นป่าสีชมพูนี้มีชื่อว่า นางพญาเสือโคร่ง หรือที่ใครๆ รู้จักกันในนามของ ซากุระเมืองไทย

“ปีนี้บานเร็ว เพราะอากาศตอนปีใหม่ไม่หนาวจัด ดอกจะออกขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ก่อนออกดอกจะทิ้งใบจนหมดต้น ถึงเวลาก็ออกดอกบานสะพรั่ง แต่จะบานสวยอยู่แค่ 15 วัน จากนั้นก็จะร่วงหล่นให้ต้นไม้ได้ผลิใบใหม่ เขาถึงเรียกกันว่า ดอกไม้เทวดา เพราะต้องคอยเฝ้าดูกันอย่างใกล้ชิด”หัวหน้ามนูศักดิ์ เล่าว่า เดิมทีพื้นที่บริเวณหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะเป็น ป่าเสื่อมโทรมจากการที่ชาวบ้านทำไร่ฝิ่น และขาดการดูแลดินและน้ำอย่างถูกต้อง ปี 2518 กรมป่าไม้ โดยกองอนุรักษ์ต้นน้ำ จึงได้กำหนดแผนพัฒนาต้นน้ำและจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบ นั่นจึงเป็นที่มาของหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 4 (แม่จอกหลวง) หรือหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ ในชื่อปัจจุบันการฟื้นฟูของหน่วยจัดการต้นน้ำ เริ่มจากการศึกษาวิจัยต้นไม้ที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อสภาพพื้นที่ได้ดีที่ สุด และนางพญาเสือโคร่งก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในพรรณไม้ซ่อมแซมป่า

มีการปลูกนางพญาเสือโคร่งตั้งแต่เริ่มจัดตั้งหน่วยฯ จนถึงวันนี้กว่า 30 ปีแล้ว จากต้นไม้เล็กๆ เมื่อเวลาผ่านไปลำต้นเติบใหญ่ กิ่งก้านขยายสาขา ทำให้มองเห็นขุนเขาเป็นสีชมพูไปทั้งลูกนอกจากภาพไกลตา ซากุระเมืองไทยที่อยู่ใกล้จนเอื้อมมือถึงก็มีให้เห็นดาษดื่นที่บริเวณลานกางเต็นท์ของนักท่องเที่ยวเราเดินลงจากเนินซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานหน่วยฯ ไปยังสนามหญ้าด้านล่าง มีเต็นท์สีสันสดใสกางกระจายอยู่โดยรอบ นักท่องเที่ยวหลายคนมุดเต็นท์ออกมาแต่เช้าตรู่เพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ที่หา ไม่ได้จากเมืองหลวง ในขณะที่หลายครอบครัวก็เริ่มติดไฟให้ความอบอุ่นอยู่ข้างที่พักต้องบอกก่อนว่า ภารกิจของหน่วยจัดการต้นน้ำไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาการท่องเที่ยว แต่เป็นงานอนุรักษ์ป่า ฟื้นฟู วิจัย และพัฒนาป่าไม้ ป่าต้นน้ำ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันรักษาป่า และกิจกรรมงานบำรุงป่า ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่คาดหวังว่าจะได้รับความสะดวกสบายเช่นเดียวกับการไป เที่ยวในหลายๆ อุทยานแห่งชาติ ถือเป็นความเชื่อที่ผิด“เราเห็นชัดเจนอย่างหนึ่งคือ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในท้องที่ค่อนข้างขาดวินัย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย เขามากางเต็นท์ มาดูดอกไม้สีชมพู ถ่ายรูปเสร็จกลับบ้าน ไม่เคยมีใครเข้ามาสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงวิธีการจัดการต้นน้ำว่าทำอย่างไร ไหนจะเรียกร้องสิ่งอำนวยความสะดวกอีกสารพัด จริงๆ เราไม่มีงบประมาณ ไม่มีแผนดำเนินการด้านการท่องเที่ยว แต่...เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา เราก็พยายามดูแล คือพอเริ่มมีการจัดการท่องเที่ยวก็จัดสร้างห้องน้ำชั่วคราวให้สำหรับนักท่อง เที่ยวที่มากางเต็นท์ ที่นี่ฟรีทุกอย่าง ไม่มีค่าใช้จ่าย”จริงๆ แล้วที่หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติอยู่เหมือนกัน แต่ก็อย่างที่บอก ทางหน่วยฯ ไม่มีหน้าที่ด้านการดูแลการท่องเที่ยวโดยตรง กอปรกับไม่มีเจ้าหน้าที่ มีเพียงลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น การท่องเที่ยวบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าจะไปได้ดีจึงไม่เกิดขุนแม่ยะเริ่ม โด่งดังมาตั้งแต่ปี 2548-2549 จากการที่มีนักเดินทางเข้ามาถ่ายภาพแล้วนำออกไปเผยแพร่ ทำให้ใครๆ ต่างย่ำเท้าขึ้นมาตามล่าหาซากุระเมืองไทยกันทุกปีการบันทึกภาพดอกไม้แสนสวยเริ่มขึ้นแล้ว เมื่อ 10 ปีก่อน กล้องถ่ายภาพอาจเป็นแค่อุปกรณ์ประจำครอบครัว แต่ดูเหมือนว่าวันนี้จะเป็นของใช้ส่วนตัวที่ใครๆ ก็มีฉันยืนดูพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เคลื่อนไหวผ่านหน้าไปมา แม้เมฆครึ้มบนฟ้าจะไม่เป็นใจให้ได้ภาพดอกไม้ที่สวยงามดังหวัง แต่รอยยิ้มที่ฝังอยู่บนใบหน้าของทุกคนก็บ่งบอกได้ถึงความพึงพอใจที่ได้เดิน ทางมาเยือน ขุนแม่ยะ

ช่างเคี่ยน ขุนเขาใต้เงาสวรรค์

หากให้เสนอชื่อเส้นทางจักรยานที่สวยที่สุดในเมืองไทย นักปั่นตัวยงคงยกมือให้กับเส้นทางสายดอยสุเทพ - ขุนช่างเคี่ยน - ห้วยตึงเฒ่า ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในเส้นทางที่สวยที่สุดแน่ๆ เพราะนอกจากสภาพป่าที่สมบูรณ์ท่ามกลางอุณหภูมิที่เย็นสบายแล้ว หากผ่านไปในฤดูดอกไม้บาน ก็จะได้เห็นสวรรค์สีชมพูตั้งอยู่ใจกลางหุบเขาด้วยไม่ใช่ทริปจักรยาน แต่ระยะเวลาในการเดินทางดูไม่แตกต่างกันเลย เพราะรถสองแถวสีแดงที่กำลังไต่ระดับจากบ้านม้งดอยปุยขึ้นไปบนความสูง 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำเวลาได้ไม่ดีนัก มันช้าจนเรียกว่าเอื่อยก็ไม่ผิด คนขับรถมอเตอร์ไซค์รุ่นเก่า 4-5 คัน วิ่งแซงขึ้นไปพร้อมกับโบกมือทักทายผู้โดยสารในรถ ฉันส่งยิ้มให้ พร้อมๆ กับเสนอหน้าออกไปนอกรถด้านขวาคือภูผาสูงชัน ต้นไม้รายทางมีขนาดใหญ่เทียบได้กับต้นไม้ในป่าดิบชื้นหลายๆ แห่ง แดดรำไรด้านซ้ายส่องให้เห็นหุบเหวลึก แต่คงไม่มีใครพลาดลงไป เพราะทิวต้นไม้น้อยใหญ่ เป็นเหมือนกำแพงธรรมชาติที่คอยปกป้องให้ทุกการเดินทางเป็นไปด้วยความปลอดภัยลมเย็นๆ ปะทะใบหน้าจนจมูกชื้น กว่าจะถึงจุดหมายก็เล่นเอาร่างกายชาดิก ฉันเดินเข้าไปหาอะไรอุ่นๆ คลายความหนาวเย็นในร้านกาแฟเล็กๆ ป้ายด้านหน้าเขียนไว้ว่า สถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน ไม่ผิดแล้ว ที่นี่เอง "สวรรค์ป่าซากุระ"กลิ่นหอมของเอสเปรสโซ่ กาแฟคั่วบดสายพันธุ์อราบิก้า ทำให้ฉันต้องละสายตาจากไร่กาแฟต้นกำเนิด แล้วมาฟัง ประเสริฐ คำออน นักวิชาการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ผละจากทีมนักวิจัยต่างชาติ มาเล่าถึงป่าซากุระเมืองไทยในไร่กาแฟให้ฟัง“เดิมเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ชาวบ้านทำการเกษตรไม่ได้ก็อพยพไป ทิ้งให้เป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ทาง UN และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้เข้ามาใช้เป็นพื้นที่ฝึกงานของเด็กนักศึกษาใน การวิจัยพืชเมืองหนาว ส่วนชาวบ้านเราก็ส่งเสริมให้มีการปลูกกาแฟอราบิก้าเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ หลัก แล้วก็ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งขึ้นมาซ่อมแซมป่าเมื่อประมาณปี 2532 ทำให้ระบบนิเวศน์บริเวณนี้ได้รับการฟื้นฟู”

ทั้งกาแฟและนางพญาเสือโคร่งจึงเติบโตขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพที่นางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงมากกว่า กอปรกับฤดูหนาวจะทิ้งใบและให้ดอกสีชมพูบานทั้งต้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมุ่งความสนใจไปที่ซากุระเมืองไทยหนักกว่าพืชชนิดอื่น

มองสำรวจไปรอบสถานีฯ พบว่ามีอาคารฝึกอบรมอยู่หลายหลัง ประเสริฐ บอกว่าอาคารเหล่านี้ใช้อบรมเกษตรกรในการผลิตกาแฟทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การคั่ว ไปจนกระทั่งถึงการบริโภค ทว่าปัจจุบันอาคารหลายหลังถูกแปรสภาพเป็นที่พักของนักท่องเที่ยว และปีนี้ก็เป็นปีแรกที่ทางสถานีฯ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักได้ โดยคิดค่าบริการหลังละ 600 บาท พักได้ราว 20 คน แถมมีเครื่องนอนและเครื่องครัวให้พร้อมจิบกาแฟเอสเปรสโซ่พอให้ร่างกายได้อบอุ่นแล้ว ฉันออกเดินตามทางไปยังไร่กาแฟ ทั้งสองข้างมีต้นกาแฟที่กำลังให้ผลผลิตอยู่หนาตา แทรกกันอยู่คือต้นนางพญาเสือโคร่งที่ผลิดอกเบ่งบาน มองเห็นสีชมพูเป็นทิวแถว บางส่วนก็ปลิดปลิวร่วงลงไปสร้างสีสันให้กับพื้นดินคล้ายงานศิลปะถ้าจะเดินให้ทั่วอาจต้องใช้เวลาถึง 2 วัน เพราะพื้นที่ 260 ไร่ในสถานีฯ ไม่ใช่สวนสาธารณะโล่งๆ ที่จะเดินได้รอบภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ฉันจึงเดินตรงไปยังแปลงพืชวิจัยที่ปลูกไม้เมืองหนาวไว้หลายชนิดตรงนี้มีทั้ง บ๊วย ท้อ พลับ และพลัม ซึ่งต้นหลังนี้กำลังออกดอกสีขาวบานสะพรั่ง สวยงามไม่แพ้นางพญาเสือโคร่งเลยทีเดียวเราเก็บภาพที่สวนพลัมอยู่นาน จนพระอาทิตย์ใกล้จะลับทิวนางพญาเสือโคร่งแล้วจึงนึกได้ว่า ยังไม่มีรูปนางพญาเสือโคร่งเลยสักใบ จะช้าอยู่ก็คงไม่ทันการณ์ เราเดินตรงไปยังต้นที่เป็นไฮไลต์ของที่นี่ทันทีนางพญาเสือโคร่งต้นแรกที่ปลูกบนสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนอยู่ใกล้กับบ่อน้ำ ใครๆ ก็มารุมถ่ายภาพ เมื่อมองขึ้นไปจากจุดนี้จะเห็นดอกไม้สีชมพูอยู่รอบตัวเรา คล้ายยืนอยู่ท่ามกลางหุบสวรรค์ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม นักปั่นน่องเหล็กทั้งหลายจึงยกให้เส้นทางสายดอยปุย - ขุนช่างเคี่ยน เป็นหนึ่งในเส้นทางจักรยานที่สวยที่สุดในเมืองไทย

.....................

การเดินทาง

ไปขุนแม่ยะ จากเชียงใหม่ให้ใช้เส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง ที่หลักกิโลเมตร 34 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 (แม่มาลัย-ปาย) ลัดเลาะตามไหล่เขาไปจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 67+500 บริเวณด่านแม่ยะ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนดินประมาณ 8 กิโลเมตรก็ถึง แนะนำว่าควรใช้รถกระบะเพราะถนนค่อนข้างมีอุปสรรคและสูงชัน หากไม่มีสามารถใช้บริการรถกระบะจากด่านแม่ยะถึงหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะได้ ติดต่อ สมบูรณ์ ยศสมุทร โทร. 08-0129-5406

สำหรับขุนช่างเคี่ยน อยู่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้เส้นทางดอยสุเทพ-ดอยปุย ผ่านพระธาตุดอยสุเทพ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จากนั้นถนนจะเริ่มแคบลง เป็นทางคดเคี้ยวเข้าป่า ผ่านหมู่บ้านม้งดอยปุยขึ้นไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงสถานีเกษตรวิจัยที่สูงขุนช่างเคี่ยน สอบถามเส้นทางเพิ่มเติมที่ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ โทร. 0-5324-88604 และ 0-5324-8607

ที่พัก

นักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์ไปกางได้ที่ลานกางเต็นท์หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะได้ ไม่เสียค่าบริการ หรือจะพักที่อำเภอปาย แนะนำ เบลล์ วิลล่า รีสอร์ท โทร. 0-5369-8226-7, 0-2693-2895, 0-2693-3990 Ext. 601, 604

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

โลเลทัวร์ทริป 3




















กลับมาแล้วครับโลเลทัวร์ทริปนี้ม่ผมป้าทรายและนายเขียวหวาน...หมายกำหนดการที่ตั้งใจไว้คือไปภูเรือ...ข้ามไปฝั่งลาวที่ท่าลี้...ไปเชียงคาน...ไปหนองคาย...นั่งรถไฟไปเวียงจัน...แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ตามสไตล์โลเลทัวร์
เรื่องเล่าจากเชียงคาน
ย่างเข้าหน้าแล้ง น้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลงจนมองเห็นตลิ่งสูง ถัดจากตลิ่งสูงลงไปมีเรือ ๔-๕ ลำลอยลำอยู่
บนเรือ คนหาปลากำลังเตรียมเรือบ่ายหน้าออกสู่แม่น้ำเพื่อหาปลาอีกครั้ง หลังการกลับเข้าฝั่งในตอนเช้าตรู่... กล่าวกันโดยทั่วไปแล้ว ผู้คนที่สร้างบ้านเรือนอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำโขงทั้ง ลาว-ไทยต่างได้พึ่งพาแม่น้ำสายนี้มาหลายชั่วอายุคน แม่น้ำจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนตั้งแต่เช้าจรดเย็น หรือถ้าไม่กล่าวเกินเลยไปนัก แม่น้ำเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย หลากหลายชีวิตริมฝั่งน้ำหมายถึงหลากหลายอาชีพที่เกิดขึ้น บางคนหาปลา บางคนทำการเกษตรริมน้ำหรือกระทั่งบนดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำยามหน้าแล้ง บางคนมีเรือนำเที่ยว แม้ว่าบางคนจะไม่ได้มีอาชีพอะไรที่ต้องพึ่งพาสายน้ำ แต่ในบางวันก็เลือกเอาริมแม่น้ำเป็นที่พักผ่อนอารมณ์

หากนับอำเภอชายแดนที่เป็นพรมแดนของประเทศลาว-ไทยโดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดนแล้ว อำเภอหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้อำเภออื่นๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำโขงคือ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เพราะอำเภอแห่งนี้มีแม่น้ำถึง ๓ สายไหลผ่าน และมีแม่น้ำ ๒ สายที่ไหลเป็นเส้นแบ่งพรมแดนลาว-ไทย และมีแม่น้ำ ๒ สายที่เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง

เชียงคาน, วันวาน-วันนี้

เชียงคาน เป็นอำเภอชายแดนของจังหวัดเลย อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราว ๕๐ กิโลเมตร อำเภอเชียงคานเป็นเมืองริมแม่น้ำโขงที่สงบเงียบ และมีสถาปัตยกรรมทางศาสนาคล้ายคลึงกับทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไม่ ได้แตกต่างจากอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายเท่าใดนัก แต่จุดที่แตกต่างกันออกไปคือสำเนียงในการพูด คนทั่วไปได้ให้นิยามสำเนียงการพูดของคนจังหวัดเลยว่า สำเนียงการพูดแบบ 'คนไทเลย' จากเอกสารที่ วัดศรีคูณ เมืองวัดเก่าแก่ของอำเภอเชียงคาน ได้เล่าถึงการสร้างบ้านแปงเมืองแห่งนี้เอาไว้ว่า เมืองเชียงคานในพงศาวดารล้านช้างบ่งบอกว่า ขุนคาน ผู้เป็นโอรสของ 'ขุนครัว' ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก 'ขุนลอ' เป็นผู้สร้างบ้านแปงเมืองเชียงคานขึ้นมา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสได้เข้ามาทำสงครามและยึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด ชาวเมืองเชียงคานทั้งหมดจึงได้อพยพหนีภัยไปอยู่ที่ เมืองปากเหือง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเหือง เรียกถิ่นฐานแห่งใหม่นี้ว่า ‘บ้านปากเหือง’ ที่เรียกเช่นนี้เพราะตัวเมืองตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่แม่น้ำเหืองไหลบรรจบ กับแม่น้ำโขง และเมืองปากเหืองเดิมก็ถูกเรียกว่า ‘บ้านปากเหืองเก่า’ ต่อมาได้เปลี่ยนไปเรียกเมืองแห่งใหม่นี้ว่า ‘บ้านเชียงคานใหม่’ เมื่อฝรั่งเศสรุกคืบมาครอบครองแผ่นดินบริเวณแขวงไซยะบุรีเพิ่มเติม ผู้คนจึงพากันอพยพไปอยู่บ้านท่านาจันทร์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และอยู่ห่างจากอำเภอเชียงคานในปัจจุบันราว ๒ กิโลเมตร ปัจจุบันเรียกว่า ‘บ้านน้อย’ เมื่อลองไล่เลียงสถานะความเป็นมาของเชียงคานแล้วจะ พบว่า การสร้างบ้านแปงเมืองกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เมืองแห่งนี้ก็ไม่เคยตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำแม้แต่ครั้งเดียว นั่นย่อมย้ำเตือนให้เห็นว่า แม่น้ำสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนเพียงใด ปัจจุบันหากพูดถึงเชียงคาน หลายคนคงอดที่จะคิดถึงเรื่องราวของ แก่งคุดคู้ ไม่ได้ และเมื่อลองไปถามคนเชียงคานว่าสถานที่แห่งไหนที่ทำให้คนภายนอกรู้จักเมืองเชียงคานมากขึ้น หลายคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า 'แก่งคุดคู้'

'แก่งคุดคู้' มีลักษณะเป็นแก่งหินขนาดใหญ่ที่ทอดตัวขวางแม่น้ำโขงเป็น เขื่อนธรรมชาติ ในช่วงหน้าน้ำจะจมอยู่ใต้น้ำ ด้วยความที่แก่งคุดคู้เป็นกลุ่มหินขนาดใหญ่ ในยามที่น้ำไหลกระทบจึงเกิดเสียงดังชวนให้หวาดกลัว ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าเรื่องราวการเกิดขึ้น ของแก่งคุดคู้ให้ลูกหลานฟังสืบต่อกันมาว่า นานมาแล้วมีนายพรานบ้านอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคนหนึ่งชื่อ ตาจึ่งคึ่ง -จึ่งคึ่ง เป็นคำขยายลักษณะของนามเพื่อให้เห็นความแจ่มชัด เช่น แดงจึ่งคึ่ง หมายถึงแดงมาก- นายพรานผู้นี้เป็นคนมีรูปร่างสูงใหญ่มีจมูกสีแดงใหญ่โต รูจมูกทั้งสองกว้างมาก ในยามที่ตาจึ่งคึ่งนอนหลับ เด็กๆ ก็แอบเข้าไปเล่นสะบ้าในรูจมูกได้อย่างสบาย ('คนไทเลย' จึงมีคำล้อเลียนคนที่ตัวใหญ่จมูกโตว่า จึ่งคึ่งดังแดงนอนตะแคงจู๋ฟ้า เด็กน้อยเล่นสะบ้าอยู่ในฮูดัง) 'ตาจึ่งคึ่ง' เป็นผู้มีความสามารถในการล่าสัตว์ ทั้งบก และน้ำ ความเก่งกาจของพรานจึ่งคึ่งเป็นที่เลื่องลือไปไกลหลายหมู่บ้าน บ่ายวันหนึ่งขณะตาจึ่งคึ่งกำลังหาปลาอยู่ในแม่น้ำโขงสาย ตาก็มองขึ้นไปบนฝั่งแล้วไปสบสายตากับควายเงินตัวใหญ่ยืนกินน้ำอยู่ฝั่งตรง ข้าม ฉับพลันความปรารถนาในการได้กินเนื้อของควายเงินตัวนั้นก็วิ่งเข้ามาเกาะกุม หัวใจ ตาจึ่งคึ่งจึงวางเครื่องมือหาปลาลงแล้วมุ่งหน้าไปหาอาวุธในการล่าสัตว์ พอได้อาวุธแกก็มุ่งหน้าสู่อีกฝั่งด้วยใจระทึก เมื่อขึ้นฝั่งได้แกก็แอบซุ่มอยู่ตรงพุ่มไม้พร้อมกับยกปืนขึ้นมาเล็งใส่ควาย เงินตัวนั้น แต่ขณะที่กำลังจะเหนี่ยวไกปืน ก็พอดีมีเรือสินค้าลำหนึ่งวิ่งมาจากทางใต้ ควายเงินพอได้ยินเสียงเรือสินค้าก็ตกใจวิ่งหนีเข้าป่า กระสุนของตาจึ่งคึ่งที่ปล่อยออกไปจึงพลาดเป้าหมาย ด้วยความโมโหพ่อค้าที่เป็นต้นเหตุให้การล่าควายเงินตัวนั้นของแกไม่ ประสบผลสำเร็จ แกจึงยกปืนขึ้นประทับบ่าแล้วยิงไปยังภูเขาลูกหนึ่งที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง หวังระบายความโกรธที่เกิดขึ้น ด้วยความรุนแรงของกระสุนปืนทำให้ยอดของหน้าผาของภูเขาขาดหวิ่นลง ในเวลาต่อมาหน้าผาของภูเขาลูกนั้นชาวบ้านก็เรียกกันสืบต่อมาว่า ผาแบ่น และหมู่บ้านที่อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงก็มีชื่อเรียกว่า บ้านผาแบ่น (คำว่า ‘แบ่น’ ในภาษาไทเลยหมายถึงขาดออกนิดหน่อย ส่วนในบางจังหวัดของภาคอีสานเรียกว่า ‘บิ่น’ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน) หลังจากจมอยู่กับความผิดหวังได้ไม่นาน 'ตาจึ่งคึ่ง' จึงได้คิดค้นหาวิธีที่จะทำให้เรือสินค้าไม่ผ่านมารบกวนการล่าสัตว์ของตัวเอง ตาจึ่งคึ่งจึงมุ่งหน้าสู่ภูเขา เพื่อลำเลียงก้อนหินจากภูเขามากั้นแม่น้ำ เพื่อไม่ให้เรือผ่าน รอบแล้วรอบเล่าที่ตาจึ่งคึ่งเพียรพยายามถมแม่น้ำด้วยก้อนหินจากภูเขา การกระทำของ 'ตาจึ่งคึ่ง' หาได้หลุดรอดสายตาของ จั่วน้อย-สามเณรที่เฝ้าดูอยู่ไปได้ เมื่อเห็นเหตุการณ์ดังนั้น 'จั่วน้อย' ก็คิดว่าถ้าตาจึ่งคึ่งนำหินมากั้นแม่น้ำโขงได้สำเร็จ จะสร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งคนและสัตว์ที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขงใน การดำรงชีพ จั่วน้อยจึงออกอุบายให้ตาจึ่งคึ่งนำไม้ไผ่มาทำเป็นไม้คาน เพื่อจะได้หาบก้อนหินโดยไม่ต้องแบกมาทีละก้อนอีก เมื่อได้ฟัง ตาจึ่งคึ่งก็เห็นคล้อยตาม จึงไปนำไม้ไผ่มาทำเป็นไม้คานหาบหินจากภูเขาลงมาถมแม่น้ำ ในระหว่างที่หาบไปหลายรอบ ไม้ไผ่ที่นำมาทำไม้คานเริ่มกรอบแห้ง และในที่สุดก็รับน้ำหนักหินไม่ไหว แล้วหักลง ความคมของไม้ไผ่ที่นำมาทำเป็นไม้คาน ซึ่งตอนนี้ได้หักลงได้บาดเข้าที่คอของตาจึ่งคึ่งจนถึงแก่ความตาย ร่างของตาจึ่งคึ่งนอนตายในลักษณะคุดคู้ เพราะความทรมานก่อนที่จะสิ้นใจตาย

ชาวบ้านชาวเมืองจึงเรียกลักษณะการนอนตายของตาจึ่งคึ่งว่า 'คุดคู้' และแก่งหินที่ตาจึ่งคึ่งเอาหินมาถมทับลงไปในแม่น้ำนั้นว่า ‘แก่งคุดคู้’

album

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2552

เรื่องเล่าจาก TRIP


สมาชิก campcar กับ vitara 5D จำนวน 5 คัน.....นัดกันออกไปท่องเที่ยวปีใหม่...โดยออกเดินทาง ล่วงหน้าไปก่อน 1 คัน...ที่เหลือนัดเจอกันกว่าจะได้ออกเดินทางเกือบ 24 น. ของวันที่ 30 ธันวาคม 2548 เราใช้เส้นทางสายสุพรรณ-ชัยนาท.......ขับตามกันไปคุยกันเรื่อยๆกว่าจะถึงกำแพงเพชรประมาณ 6 โมงเช้า
จอดนอนพักสายตาชั่วโมงกว่า...แล้วจึงเดินทางต่อโดยใช้เส้นทาง 105 มุ่งหน้าสู่ชายแดนพม่าที่แม่สอด....แวะเดินซื้อสินค้าได้แป็บหนึ่งจึงเริ่มเดินทางสู่อำเภอแม่สะเรียงระยะทางขึ้นเขาลงเขาตลอดประมาณ 220 กิโลเมตร.....ถึงแม่สะเรียงจึงแวะซื้อเสบียงเตรียมไว้แล้วจึงเดินทางต่อไปอุทยานแห่งชาติสาละวินตลอดเส้นทางก็จะวิทยุถามเส้นทางคนพื้นที่ตลอดเพราะไม่เคยมีใครเคยไป....ไปถึงปากทางเข้าประมาณ
19.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าหน้าจะไม่ให้กลุ่มเราเข้าเพราะเลยเวลาแล้ว....แต่คุณ V-029 ไปขอร้องว่าพวกเราเดินทางมาไกลแล้วมีเวลาน้อยจะขอเข้าไปคืนนี้เลย...คุยจนเจ้าหน้าที่ใจอ่อนแต่ก็กำชับว่าให้ใช้ความระมัดระวังเพราะทางอันตรายและก็เป็นเวลากลางคืนด้วยถ้าเกิดอะไรขึ้นคงไม่มีใครเข้าไปช่วยได้.....ล้อเริ่มหมุนบนเส้นทางลูกรังซึ่งด้านข้างจะเป็นเหวลึกแต่ขับไปกลางคืนจะไม่เห็นเลยไม่รู้สึกกลัวระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตรเต็มไปด้วยลำธารน้ำซึ่งเกิดจากน้ำป่าพัดถนนขาดไปเกือบ 20 กิโลเมตรพวกเราต้องลงไปเดินสำรวจเส้นทางตลอดเพราะไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหน? ผ่านลำธานจนนับไม่ถ้วนกลัวก็กลัวเพราะเริ่มดึกขึ้น
ในใจก็คิดไปว่าถ้าลำธารที่เรากำลังจะข้ามไปนี้คือแม่น้ำสาละวินที่แห้งแล้ว.....ก็คงหมายถึงเรากำลังหลงไปในเขตประเทศพม่าแล้วจะทำยังงัยดี...เกือบจะขึ้นวันใหม่ของปี 2549 แล้วยังเหลือระยะทางอีกตั้ง 10 กว่ากิโลเมตร...พวกเราเริ่มอ่อนล้ากับการเดินทางแล้วในที่สุดเราก็ต้องนับถอยหลังและอวยพรปีใหม่กันกลางป่าท่ามกลางแสงดาวเต็มท้องฟ้า......เวลา 01.30 ของวันใหม่พวกเราก็เดินทางถึงหน่วยพิทักษ์ท่าตาฝั่ง รวมระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพ 24 ชั่วโมงเต็มรวมเวลาที่เดินทางในป่าเกือบ 6 ชั่วโมง....เจ้าหน้าที่อุทยานออกมาต้อนรับและถามพวกเราว่ามาได้ยังไงดึกขนาดนี้(และเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาดึก)....พวกอ่อนล้าจากการเดินทางแล้วไม่มีแรงกลางเต้นท์จึงขอนอนที่บ้านพักอุทยานซึ่งคิดห้องละ 600 บาทนอนได้ประมาณ 5-6 คนแต่พวกเรามากันทั้งหมด 12 คนขอนอนรวมกันที่ห้องเดียวกันเลยเดี๋ยวก็เช้าแล้วตั้งใจจะนอนค้างแค่คืนเดียวแล้วแวะเที่ยวตามเส้นทางที่ผ่านมา.....หลังจากเจ้าหน้าที่ใจอ่อนยอมแล้วเพียงไม่กี่นาทีก็คงมีเพียงแต่เสียงกรนแข่งกับความเงียบของป่าและแสงดาว........

การเดินทาง
- จากกรุงเทพถึงแม่สะเรียงประมาณ 750 กิโลเมตร
- เช่าเรือหางยาวที่ท่าเรือหน่วย ส.ว 3 แม่สามแลบนั่งทวนน้ำขึ้นฝั่งที่ท่าตาฝั่ง ใช้เวลาประมาณ 40 นาที
- ขับรถทาง off road จากที่ทำการอุทยานไปหน่วย ส.ว 1 ท่าตาฝั่ง ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร

สถานที่ติดต่อ
คุณ สุรชัย ท่าเทศ
ผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยอุทยานแห่งชาติสาละวิน ตู้ ปณ.8 ปท. แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58110
โทร 01-7963932 หรือกรมอุทยานแห่งชาติ 02-5620760 หรือ http://www.dnp.go.th
Contact: Mr.Surachai Thathet SALAWIN NATIONAL PARK 01-7963932

เกาะเกล็ด


เกาะเกร็ด เกาะเกร็ดเกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงส่วนที่เป็นแหลม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2265 เรียกว่า “คลองลัดเกร็ดน้อย” ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้นเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ
เกาะเกร็ดมีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้ว่าวัดวาอารามต่างๆบนเกาะส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา แต่คงจะมาร้างคนเมื่อพม่ามายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แต่หลังจากกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ชาวมอญที่เข้ารีตมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ชาวมอญบนเกาะเกร็ดนั้นมีทั้งที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ 2 การคมนาคมบนเกาะจะใช้จักรยานเพื่อให้เหมาะกับขนาดของเกาะ

สถานที่น่าสนใจบนเกาะ ได้แก่

วัดปรมัยยิกาวาส (วัดปากอ่าว) ในวัดนี้มีสิ่งที่น่าชมอยู่หลายอย่าง ที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม (โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาสตั้งตระหง่านอยู่ ส่วนที่พระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กระนั้นพระองค์ยังรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริ่มสวดเป็นภาษามอญ และปัจจุบันนี้ ที่นี่เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฏกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ ซึ่งเป็นผู้ที่สร้างพระสยามเทวาธิราช รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องว่าพระประธานนี้งามด้วยฝีพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง เอกลักษณ์มอญอีกอย่างหนึ่งของที่วัดนี้คือ เจดีย์ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์ มุเตา เมืองหงสาวดี ซึ่งคนมอญนับถือมาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ภาพจิตรกรรมที่เพดานนั้นแปลกตากว่าที่อื่น เป็นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฝีพระหัตถ์หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี “พระนนทมุนินทร์” เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ปางขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกแบบมอญ (จองพารา) สลักโดยฝีมือช่างที่นี่ ที่มุขเด็จหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่ง ซาง ซิว ซูน ชาวพม่าถวายให้กับรัชกาลที่ 5 พระวิหารเปิดทุกวัน ตั้งแต่ 8.30-16.30 น. นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ ที่จะเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ จัดแสดงวัตถุต่างๆ ที่ล้วนน่าชม เช่น พระพิมพ์ เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม รวมทั้ง “เหม” ที่ พ.อ. ชาติวัฒน์ งามนิยม บรรจงสร้างขึ้นจนนับว่าเป็นงานศิลป์ ชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว นับตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง การต่อลาย การตอกไข่ปลาเพื่อต่อลายบนกระดาษอลูมิเนียม ทุกชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นเหมนี้ล้วนแต่ต้องทำอย่างละเอียด ปราณีต เชื่อว่าชาวมอญคงดัดแปลงลักษณะของเหมมาจากโลงของพระพุทธเจ้าซึ่งก้นสอบปากบานข้างแคบเช่นกัน (ในพิพิธภัณฑ์แสดงภาพไว้) โลงเหมใช้กับศพแห้ง เหมพระจะมีลักษณะพิเศษกว่าตรงที่เจาะหน้าต่างมองเห็นศพด้านในได้ วัดเสาธงทอง เป็นวัดเก่าเดิมชื่อ “วัดสวนหมาก” นอกจากเป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมแห่งแรกของอำเภอปากเกร็ดแล้ว ด้านหลังโบสถ์ยังประดิษฐานเจดีย์ที่สูงที่สุดของอำเภอปากเกร็ดด้วย พระเจดีย์เป็นศิลปะอยุธยาย่อมุมไม้สิบสอง มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ส่วนด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกา อีกองค์หนึ่งมีฐานเหลี่ยม ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมากเขียนลายทองกรวยเชิงอย่างงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะอาล๊าต” วัดฉิมพลี มีโบสถ์ขนาดเล็กงดงามมาก และยังมีสภาพสมบูรณ์แบบเดิมเป็นส่วนใหญ่ หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ ซุ้มประตูเป็นทรงมณฑป ซุ้มหน้าต่างแบบหน้านาง ยังคงเห็นความงามอยู่ และฐานโบสถ์โค้งแบบเรือสำเภา วัดไผ่ล้อม สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์รูปทรงคล้ายมะเฟือง ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ประดับลายปูนปั้น คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะโต้” กวานอาม่าน เป็นศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านชาวมอญ จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผามอญลายโบราณ เปิดให้ชมทุกวัน การปั้น เครื่องปั้นดินเผานั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี นับเป็นหัตถกรรม พื้นบ้าน ที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนนทบุรี ลวดลายประณีตสวยงาม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และถูกนำไปเป็นตราประจำจังหวัดนนทบุรี สองข้างทางเดินบนเกาะมีบางบ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผา ภาชนะของใช้ ในชีวิตประจำ เช่น กระถาง ครก โอ่งน้ำ ฯลฯ สามารถเข้าไปชมได้
คลองขนมหวาน บริเวณคลองขนมหวานและคลองอื่นๆ รอบเกาะเกร็ด ชาวบ้านจะทำขนมหวาน จำพวกทองหยิบ ทองหยอด ขายส่งและยังสาธิตให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วย