
ระหว่างทางเชื่อมโยงโขงสองฝั่ง
ตามทางหลวงหมายเลข 2112 สุดเขตอุบลราชธานีที่ อ.เขมราฐ เพื่อจับเส้นทางหลวงหมายเลข 2242 ที่จะเชื่อมกับ 2034 อันเป็นทางหลวงเส้นที่เลียบชิดแม่น้ำโขงที่สุด ตั้งแต่เข้าเขต อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ และต่อเนื่องจนเข้าสู่เขต จ.มุกดาหาร ในที่สุด เข้าเขตเมืองปัญหาที่มักยากหลีกเลี่ยงคือไฟจราจร บ่อยครั้งทำให้รถทั้งสามคันในคณะของเราพลัดหลงกัน ถนนซอกซอยในตัวจังหวัดก็เช่นกันที่มักเป็นทางเลือกที่ไม่ง่ายในการตัดสินใจ ที่มุกดาหารก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น จนเมื่อพ้นเขตชุมชนออกมา การจอดรอจึงเป็นทางออกที่ผมตัดสินใจร่วมกับโชเฟอร์รถนำขบวน และช่างเป็นความบังเอิญอันแสนโชคดีที่จุดจอดรถข้างถนนของพวกเราเดินไปอีกไม่ กี่ก้าวก็เห็นแม่น้ำโขงเต็มตา แม้จะเป็นมุมมองในเขตเมืองที่มองไปซ้ายขวาเห็นแต่ร้านอาหารก็ตาม ลมแม่น้ำพัดแรงพอสมควร เสียงใบต้นกล้วยริ่มตลิ่ง(สูง)ข้างร้านอาหารแห่งนั้นดังชัดเจน มองไปเห็นทางยาวตลอดใบแตกเป็นริ้วลู่ลม ตลิ่งด้านล่างนอกจากเรือหาปลาของชาวบ้านแล้ว ผมเห็นเรือลาดตระเวนของตำรวจน้ำจอดอยู่ข้างบ้านพักที่ปลูกไว้บนแพอย่าง มาตรฐาน ถ้าเข้าใจไม่ผิดคงเป็นบ้านพักของเจ้าหน้าที่ ไกลออกไปกลางลำน้ำกว้าง มีแก่งที่วางตัวขนานทางน้ำอยู่ พยายามมองเพ่งดูก็ไม่เห็นทั้งสิ่งปลูกสร้างและความเคลื่อนไหวของผู้คน คงมีแต่พุ่มไม้ท่ามกลางหย่อมหญ้าสีเขียวกลางเปลวแดดช่วงบ่ายคล้อยเย็น แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือบางอย่างที่พาดแนวขวางทางน้ำ เชื่อมสองแนวดินเข้าไว้ด้วยกัน ผมมองเห็นอยู่ไกลๆ และกำลังจะออกเดินทางเพื่อไปมองใกล้ๆ ให้ชัดพร้อมๆ กับคณะของเราอีกสองคันที่ตามมาสมทบแล้ว ระดับน้ำที่ลดลงเห็นได้จากคราบที่เกาะจับอยู่ที่ตอหม้อของ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างมุกดาหารของไทยเรากับ แขวงสุวรรณเขต ของประเทศลาว ให้สามารถไปมาค้าขายกันได้สะดวกกว่ายุคเก่าก่อน ภาพบ้านเรือนที่มองเห็นจากฝั่งของเพื่อนบ้านดูแล้วไม่ต่างจากฝั่งบ้าน เรามากนัก จะมีก็เพียงความเขียวครึ้มของต้นไม้น้อยใหญ่ที่ไม่มีสิ่งใดปิดบังความจริง เบื้องหน้าได้ นอกจากดูชื่นตาแล้ว ยังแอบชื่นใจในการเห็นคุณค่าของฝั่งสุวรรณเขตจริงๆ ต้นไม้อยู่ได้กับทุกชุมชนไม่มีข้อยกเว้นใด นอกเสียจากว่าคนจะสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเอง ภาพสุดท้ายของแม่น้ำโขงผมเห็นคนหาปลาช่วงน้ำลดขมีขมันกับการงานของตน เองอยู่ไม่ไกลตลิ่ง ขณะที่ไกลออกไป เรือดูดทรายจอดนิ่ง แม้ว่าจะกำลังเร่งดูดทรายแม่น้ำอยู่อย่างเต็มกำลังก็ตาม แต่จากสายตาของผมดูยังไงก็ไม่เห็นท่วงท่าอันเป็นหนึ่งเดียวกับแม่น้ำ ซึ่งต่างจากความรู้สึกยามมองดูคนหาปลา... ถนนเลียบแม่น้ำที่คณะของเราเดินทางทวนทางน้ำมาตลอดนับจากโขงเจียม บัดนี้กำลังฉีกตัวเข้ามาในแผ่นดิน โดยเฉพาะบนทางหลวงสาย 212 ที่เริ่มต้นจากตัวเมืองมุกดาหารจนเข้าสู่เขต อ.หว้านใหญ่ ปลายทางของทริปนี้อยู่ที่อำเภอแรกของ จ.นครพนม ด้านที่ติดต่อกับ จ.มุกดาหาร ซึ่งไม่น่าเกินหนึ่งชั่วโมงสำหรับการเดินทางที่มีจุดหมายยังศาสนสถานอัน สำคัญยิ่งของแผ่นดินอีสาน ซึ่งว่ากันว่าเป็นอีกสะพานเชื่อมหนึ่งของพี่น้องสองฝั่งโขงที่ดำรงคงมั่นมา นับนานเกินกว่าอายุของสะพานแห่งใด สูงตระหง่านนำทางสายตาให้มองตามมาจนลอดซุ้มทางเข้าไปยังลานจอดรถของ วัดพระธาตุพนมรมหาวิหาร แม้ว่าเป็นช่วงเย็นแล้วก็ตามแต่ภาพผู้คนที่มาจากทั่วสารทิศเพื่อสักการบูชา พระธาตุพนม ดูราวกับว่าเวลาไม่ใช่เงื่อนไข พระธาตุพนมเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม วัดโดยรอบได้ 49.36 เมตร สูงจากพื้นดินถึงยอดฉัตร 57เมตร แบ่งเป็น 4 ตอนตามแนวตั้ง คือ ตอนที่ 1 และ 2 เป็นรูปปรางค์มีซุ้มทั้งสี่ด้าน มีรูปลายสลักอิฐเป็น รูปก้านขด และ รูปกษัตริย์โบราณ ซึ่งทั้งสองตอนนี้เป็นของโบราณ โดยเฉพาะอิฐแดงเป็นของโบราณแท้ ส่วนที่ฉาบปูนโบกไว้เป็นของที่ซ่อมแซมในภายหลัง ถัดไปเป็น บัวคว่ำ และ บัวปากระฆัง ตอนที่ 3 คือ ตัวระฆัง และส่วนบนสุดตอนที่ 4 เป็น ยอดฉัตร แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด แต่พิจารณาเทียบเคียงจากงานศิลปกรรมที่ปรากฏบนองค์พระธาตุทั้งขอม ทวาราวดี และจาม จึงพอสันนิษฐานว่าสร้างมาไม่ต่ำกว่า 1,500 ปี ขณะที่แสงของวันเริ่มสลัวราง แต่มิอาจบดบังภาพจริงเบื้องหน้าได้แม้เพียงน้อย ด้วยความจริงที่ดำรงอยู่ไม่เคยถูกกลบลบกลืนด้วยเพียงแค่การมาย่ำเยือนของ ราตรีกาล ผมกำลังจะเดินออกมาทางประตูข้างวิหารคด แต่แล้วก็ต้องหยุดด้วยความสนใจ เมื่อเห็นชายวัยกลางคนทั้งคู่กำลังนั่งสลักแผ่นไม้อยู่อย่างไม่สนใจต่อ เงื่อนไขของเวลา สอบถามจึงได้ความว่ากำลังแกะสลัก บานประตูวิหารคดด้านตะวันตก อยู่ ด้วยมืองานของคนเล็กๆ ที่ทำหน้าที่สืบพระพุทธศาสนาในอีกทางหนึ่ง เพื่อรอเปิดรับพี่น้องทั้งจากฝั่งไทยและฝั่งลาว ที่ต่างมอบความเคารพศรัทธาต่อพระธาตุพนม นี่คือสะพานมิตรภาพถาวรโดยแท้ของคนสองฝั่งโขง และในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่กำลังมองภาพรอบตัวจากบนสะพานเวลา ขณะที่รถกำลังจะพ้นจาก อ.ธาตุพนม ผมบอกกับตัวเองในใจว่า....
ทริปนี้ถึงแล้วซึ่งความตั้งใจ