วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552

เชียงคาน-แก่งคุดคู้


อำเภอเชียงคาน
เป็นอำเภอเล็กๆแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย บรรยากาศคล้ายทางภาคเหนือมีความเงียบสงบและความบริสุทธิ์สดใสเสมือนสาวน้อยวัยละอ่อน บริสุทธิ์สดใส มีประเพณีและวัฒนธรรมที่งดงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าประทับใจ
ครั้งหนึ่ง ได้มาเยือนทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจกับภาพที่งดงามของเชียงคาน เช่น สถาปัตยกรรมการออกแบบโบสถ์ที่งดงาม ซึ่งที่นี่มีวัดถึง 6 วัด จึงไม่น่าแปลกว่าที่คนที่นี่มีความสามัคคี มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยแต่ละบ้านจะมีการพาสมาชิกในครอบครัวใส่บาตรทุกเช้าโดยมีผู้ใหญ่เป็นต้นแบบ ซึ่งในวันสำคัญจะพาลูกหลานไปทำกิจกรรมที่วัดและปฏิบัติธรรมเป็นภาพที่งดงามอย่างยิ่งนอกจากนี้ เชียงคานมีเรือนไม้เก่าคลาสิคมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามริมแม่น้ำโขงที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ และยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆเช่น


แก่งคุดคู้
เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร ประกอบด้วยหินก้อนใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมากจากการที่หินเหล่านี้อยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน ทำให้หินเหล่านี้มีสีสันไปต่าง ๆ ตัวแก่ง กว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง มีกระแสน้ำไหลผ่านไปเพียงช่องแคบ ๆ ใกล้ฝั่งไทยเท่านั้นเอง ซึ่งกระแสน้ำเชี่ยวกราก เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้ที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้ง มองเห็นเกาะแก่งชัดเจน บริเวณแก่ง มีร้านอาหารจำหน่ายมากมาย
ภูทอก
นับเป็นจุดที่เราสามารถชมวิวอำเภอเชียงคานและลำน้ำโขงได้เป็นอย่างดี ด้วยการที่ภูทอกเป็นภูเขาสูงริมแม่น้ำโขง เราจึงสามารถชมทิวทัศน์รอบๆ ได้ เช่นตัวอำเภอเชียงคาน

บ้านหาดเบี้ย
เป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำโขง อาชีพของชาวบ้านในแถบนี้จะเก็บก้อนหินจากแม่น้ำโขงขึ้นมาขายทั้งที่เป็นรายได้เสริม และรายได้หลัก หินที่เก็บมานี้จะมีสีสันสวยงาม ลวดลายดูแปลกตา มีราคาแตกต่างกันไป

หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ

ตั้งอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน การเดินทางใช้เส้นทางเมืองเลย-เชียงคาน ระยะทาง 38 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางไปบ้านนาสี จนถึงบ้านนาป่าหนาด อีกประมาณ 10 กิโลเมตร ชาวไทดำได้อพยพมาจากเมืองเชียงขวางประเทศสปป.ลาว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2448 มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ปัจจุบันยังมีการอนุรักษ์ วัฒนธรรมและความเชื่อสืบต่อกันมา ภายในหมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำมีบ้านซึ่งสร้างขึ้นตามแบบเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชาวไทดำ รวมทั้งเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตและยังมีการรวมกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองของชาวบ้าน

วัดศรีคุณเมือง
ตั้งอยู่ที่ซอย 7 ถนนชายโขง ทางด้านเหนือของตลาดเชียงคาน มีกำแพงแก้วล้อมรอบตัวพระอุโบสถ สร้างในแบบแปลกตา รูปร่างคล้ายโบสถ์ตามวัดภาคเหนือ ด้านหน้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรฝาผนังอยู่เต็มหน้าบัน ภาพทั้งหมดเป็นภาพนิทานชาดกชุดพระเจ้าสิบชาติ

วัดท่าแขก

เป็นวัดเก่าแก่โบราณ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคาน 2 กิโลเมตร ก่อนถึงหมู่บ้านน้อยและแก่งคุดคู้ปัจจุบันเป็นวัดธรรมยุติ ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูป 3 องค์ สกัดจากหินแกรนิตทั้งก้อน หน้าตักกว้าง 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก

พระพุทธบาทภูควายเงิน

ตั้งอยู่ที่บ้านอุมุง ตำบลบุฮม ตามเส้นทางสายเชียงคาน-ปากชม ระยะทาง 6 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านผาแบ่นมีทางแยกเข้าบ้านอุมุง 3 กิโลเมตร จะถึงทางขึ้นเขาเป็นทางลูกรังระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นรอยพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่บนหินลับพร้า (หินลับมีด) ประชาชนเคารพนับถือมาก จะมีงานเทศกาลประจำปีในวันเพ็ญเดือน 3 หรือเดือน 4 ของทุกปี
พระใหญ่ภูคกงิ้ว
เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพระพุทธนวมินทรมงคลลีลาทวินคราภิรักษ์ ตั้งอยู่ที่ภูคกงิ้ว บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาบริเวณปากลำน้ำเหืองจรดกับแม่น้ำโขง เป็นพระพุทธรูปปางลีลาประทานพร หล่อด้วยไฟเบอร์ผสมเรซิ่นสีทองทั้งองค์ สูง 19 เมตรตัวฐานกว้าง 7.2 เมตร สร้างขึ้นโดยกองทัพภาคที่ 2 และประชาชนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2542 และในมหามงคลแห่งราชพิธิราชาภิเษก ครบ 50 ปี พ.ศ. 2543 สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2544 บริเวณโดยรอบสามารถชมทัศนียภาพที่สวยงามของแม่น้ำโขง และประเทศลาวได้ การเดินทาง จากตัวเมืองเลยทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-เชียงคาน) ไป 47 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณสามแยกตรงไปจนถึงบ้านท่าดีหมี่ แล้วเลี้ยวขวาที่โรงเรียนบ้านท่าดีหมี่ ไปอีกประมาณ 2 กม.

การเดินทางไปเชียงคาน
โดยรถส่วนตัว
จากกรุงเทพใช้ทางหลวงหมายเลข 1(พหลโยธิน) เมื่อถึงจ. สระบุรีใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่าน อ. ปากช่องลำตะคองแยกซ้ายเข้าอ.สีคิ้ว จ. นครราชสีมาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอ.ด่านขุนทดเข้าสู่ จ. ชัยภูมิ แยกขวาและไปตามทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอ. คอนสวรรค์ อ. แก้งคร้อ ,อ. ภูเขียว,อ.ชุมแพ จ. ขอนแก่น เมื่อเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 12 แยกซ้ายไปทางอ .คอนสาร จากนั้นแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 201 สู่เขต จ.เลยอีกที ที่ภูผาม่าน ผ่านภูกระดึง วังสะพุง ถึงตัวเมืองเลย สุดท้ายแยกขวาสู่ อ.เชียงคาน รวมระยะทางประมาณ 597 ก.ม.2. โดยรถสาธารณะ - บริษัทขนส่งมีรถโดยสารประจำทางวิ่ง กรุงเทพฯ-เลย เฉพาะวันศุกร์และวันอาทิตย์ www.transport.co.th

เที่ยวอย่างไรในเมืองเชียงคาน

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของเมืองเชียงคาน รถจักยานยนต์และรถจักรยาน ถือเป็นพาหนะที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งรีสอร์ท และ เกสต์เฮาส์แต่ละแห่งก็จะมีคอยให้บริการอยู่แล้ว หากต้องการเดินไปแก่งคุดคู้ก็ไปเช่าหารถสกายแล็ปแถวตลาด ราคา 100 บาท

เทศกาลท่องเที่ยวที่เชียงคาน

ในช่วงวันเทศกาลท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่ วันสงกรานต์ซึ่งจะมีขบวนแห่สงน้ำพระพุทธรูปตลอดเส้นทางถนนกลางเมืองและมีการเล่นสงกรานต์คล้ายเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างมาเล่นร่วมกันเป็นบรรยากาศที่สนุกมาก อีกงานหนึ่งคือ เทศกาลงานออกพรรษาที่เชียงคาน ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนตุลาคมนั้นจะมีขบวนแห่เทียนออกพรรษา โดยแต่ละคุ้มวัดจะร่วมแรงร่วมใจกันทำเทียนประดับรถโดยใช้เวลาทำร่วมเดือนด้วยความสามัคคี มีการประกวดขบวนรถแห่เทียน ประกวดเทพีงานออกพรรษา แข่งขันเรือยาว คล้ายงานวัดเป็นงานที่สนุกมากถือได้ว่าเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆปี ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเริ่มรู้จักและเข้ามาเที่ยวมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงเทศกาล ตามเกสเฮ้าหรือรีสอร์ทแทบจะไม่ว่าง ถ้าจะให้สะดวกจริงคงต้องจองก่อนล่วงหน้า หากต้องการชมบรรยากาศยามเย็นในตัวอำเภอก็จะมีสวนสาธารณะริมแม่น้ำโขงที่บรรยากาศดีมากๆ จะมองเห็นทิวทัศน์โขดหิน เกาะแก่งสวยงามกลางน้ำและเป็นที่ออกกำลังกายได้อย่างดี

ตำนานเล็กๆที่เล่าต่อกันมาของแก่งคุดคู้

แก่งคุดคู้มีเรื่องเล่าหรือตำนานที่กล่าวกันมาตั้งแต่โบราณ เมื่อได้สอบถามคนเก่าแก่ท่านได้เล่าให้ฟังว่า มียักษ์ตนหนึ่งต้องการกั้นแม่น้ำโขงไว้เป็นของตน ทุกๆวันจะหาบหินมากั้นทางน้ำ เมื่อเหนื่อยก็จะมานอนพัก แล้วเด็กๆจะพากันมาเล่นลูกสะบ้าในจมูกและรีบออกมา แล้วในวันหนึ่งยักษ์ตนนั้นได้ใช้คานหาบหินจนคานหักและบาดคอตายทันที ทำให้กั้นแม่น้ำโขงไม่เสร็จ จึงทำให้เห็นหินขวางแม่น้ำโขงเป็นช่องว่างทางน้ำไหล ซึ่งถ้าสังเกตดูดีๆ หากไปเที่ยวแก่งคุดคู้จะมีโขดหินยื่นออกมาจากทางประเทศลาวที่มีช่องทางน้ำไหล ซึ่งมองดูแล้วก็สวยงามเป็นธรรมชาติไปอีกแบบหนึ่ง
แก่งคุดคู้มนต์เสน่ห์ของเชียงคาน

แก่งคุดคู้ชาวเชียงคานถือเป็นสวรรค์บนดินเพราะจุดหักโค้งของสายน้ำนานาชาติแห่งนี้มีเกาะอยู่กลางลำน้ำที่เพิ่มเสน่ห์ให้ชวนมองยิ่งนัก ป่าธรรมชาติเขียวขจี ภูเขาน้อยใหญ่ที่เรียงรายอยู่ฟากฝั่งลำน้ำโขงด้านเมืองสานะคาม แขวงไชยบุรีของลาว เหมือนภาพวาดของจิตรกรมือเอกที่ช่วยเสริมให้หาดทรายงามระยับ เกาะแก่งที่รับกับสายน้ำคดเคี้ยว ดูมีเสน่ห์ชวนให้หลงไหล
แก่งคุดคู้จะมีทั้งร้านอาหารทีจัดไว้บริการนักท่องเที่ยวและเป็นซุ้มมุงหญ้าคาแถวยาวเป็นระเบียงไม่ไผ่นั่งรับประทานอาหาร อย่างเป็นระเบียบริมหาดทรายที่ขาวสะอาด อากาศเย็นสบายเป็นธรรมชาติ มีอาหารหลากหลายชนิดไว้บริการ ส่วนอาหารที่ขึ้นชื้อคือ กุ้งเต้น โดยการนำกุ้งเล็กๆสดๆมาใส่เครื่องยำ รสชาติอร่อยมาก และยังมี กุ้งนอน ก็คือการนำกุ้งสดมาทอดกรอบเป็นแผ่นบางๆ กินกับส้มตำสูตรเด็ดของเชียงคานซึ่งจะไม่มีกลิ่นคาวปลาร้ารสชาติอร่อย และต้มยำปลาน้ำโขง โดยนำปลาน้ำโขงจริงๆมาทำต้มยำอร่อยมากทีเดียว

อาหารขึ้นชื่อของเชียงคาน

ตำซั้ว เป็นส้มตำแต่ใส่ขนมจีนร้อนลงไปด้วย จุดเด่นจะอยู่ที่เส้นขนมจีนที่เหนียวนุ่ม ไม่มีกลิ่นเปรี้ยว โดยการหมักที่มีเคล็ดลับเฉพาะ เส้นขนมจีนจะเหนียมนุ่มมีคุณภาพ นำมาผสมส้มตำแล้วอร่อยมาก หรือจะกินขนมจีนเปล่าร้อนๆใส่น้ำจิ้มก็อร่อย ชาวเชียงคานจึงนิยมรับประทานกันมากทำให้มีร้านขนมจีน-ส้มตำเกิดขึ้นมามากมาย

ห่อหมก ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมกหน่อไม้ หมกปลาน้ำโขง หมกไข่ปลา หมกสมอง ที่มีสูตรพิเศษทำได้อร่อยมาก ราคาไม่แพง ประมาณ 10-20 บาท

น้ำพริก หรือเรียกตามภาษาพื้นบ้านว่า แจ่วบอง เป็นอาหารที่นิยมรับประทานกับผักนึ่ง จุดเด่นอยู่ที่พริกจะคั่วให้หอมนำมาตำกับเครื่องเทศต่างๆอร่อยมาก นิยมทำขายเป็นของฝาก ราคาไม่แพง ประมาณ 5-20 บาท

แหนมหมู รสชาติไม่เปรี้ยวไม่มีสารกันบูด หมักโดยวิธีธรรมชาติ รสชาติหอมอร่อย นำมาทานสดๆจะทอด หรือจะใช้ประกอบอาหารอย่างอื่นก็อร่อย ห่อด้วยใบตองสด ราคา 50 บาท

มะพร้าวแก้ว เป็นของฝากที่ขึ้นชื่อ นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝาก รสชาติหอมหวาน มีทั้งชนิดเส้นและชนิดแผ่น ราคา 50-120 บาท

ของที่ระลึก

ผ้าห่มนวม เชียงคานเป็นแหล่งผลิตผ้าห่มนวมที่ใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดเลยนิยมทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยการผลิตที่มีคุณภาพราคาไม่แพงเกินไปมีหลายสีหลายลายให้เลือกตามใจชอบ เป็นอีกสินค้าหนึ่งที่ทำรายได้แก่ชาวเชียงคาน ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝากเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น