วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552

ขุนแม่ยะ


จันทร์เต็มดวงใกล้จะลับขอบฟ้าเต็มทีแล้ว เมื่อเราเปลี่ยนไปขึ้นรถกระบะ ที่บริเวณด่านแม่ยะ กม.67+500

อำเภอปาย อุณหภูมิที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ไว้ว่าจะต่ำลงอีก 3 องศาฯ เล่นเอาปวดกระดูก เพราะลำพังแค่เสื้อกันหนาวหนึ่งตัว กับผ้าพันคอหนึ่งผืน ไม่ช่วยให้ค่ำคืนอันแสนทรมานคืนนี้อบอุ่นขึ้นได้เลยหากทะเลหมอกที่ใครๆ ต่างจดจ้องมีสีขาวนวลชวนมอง ม่านฝุ่นสีแดงที่คละคลุ้งอยู่ตรงหน้า ก็เรียกความสนใจจากทุกชีวิตท้ายกระบะได้ไม่ยาก เพราะเมื่อกระทบกับแสงไฟ มันก็คล้ายการร่ายรำของธุลีที่สะกดทุกสายตาได้ดีนี่เองเวลา 45 นาที ที่ใช้ไปกับระยะทางเพียงแค่ 8 กิโลเมตร คงไม่ต้องสรรหาถ้อยคำไหนมาอธิบายสภาพของถนนได้อีกหนาวก็หนาว นานก็นาน มันเป็นการ ‘ไปถึง’ ที่ยากเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

แม่ยะ ขุนเขาแห่งดอกไม้เทวดา

“ดูสิ ----›”
เมื่อลองพลิกโปสการ์ดในมือตามคำเชื้อเชิญ ก็พบว่ามีดอกไม้สีชมพูแข่งกันเบ่งบานอยู่เต็มพื้นที่ของแผ่นกระดาษขนาด 4x6 นิ้ว มุมซ้ายมือด้านบนมีตัวหนังสือเล็กๆ สีน้ำเงินเขียนไว้ว่า ‘หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ, จ.แม่ฮ่องสอน’ฉันยืนอยู่ที่ความสูงราว 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่นี่คือ หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ ตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ความมืดมิดของรัตติกาลทำให้ดอกไม้ไม่เป็นสีชมพูเหมือนดังภาพ รออีกราวชั่วโมงเศษ เมื่อแสงแรกของวันค่อยๆ ส่องสว่างนั่นแหละ จึงได้อุทานออกมากับภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าไม่ได้ตกหลุมรักจนตาบอด(สี) แต่นี่มันภูเขาสีชมพูชัดๆ!มนูศักดิ์ เดี่ยววาณิชย์ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ บอกว่าต้นไม้ที่มองเห็นเป็นป่าสีชมพูนี้มีชื่อว่า นางพญาเสือโคร่ง หรือที่ใครๆ รู้จักกันในนามของ ซากุระเมืองไทย

“ปีนี้บานเร็ว เพราะอากาศตอนปีใหม่ไม่หนาวจัด ดอกจะออกขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ก่อนออกดอกจะทิ้งใบจนหมดต้น ถึงเวลาก็ออกดอกบานสะพรั่ง แต่จะบานสวยอยู่แค่ 15 วัน จากนั้นก็จะร่วงหล่นให้ต้นไม้ได้ผลิใบใหม่ เขาถึงเรียกกันว่า ดอกไม้เทวดา เพราะต้องคอยเฝ้าดูกันอย่างใกล้ชิด”หัวหน้ามนูศักดิ์ เล่าว่า เดิมทีพื้นที่บริเวณหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะเป็น ป่าเสื่อมโทรมจากการที่ชาวบ้านทำไร่ฝิ่น และขาดการดูแลดินและน้ำอย่างถูกต้อง ปี 2518 กรมป่าไม้ โดยกองอนุรักษ์ต้นน้ำ จึงได้กำหนดแผนพัฒนาต้นน้ำและจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบ นั่นจึงเป็นที่มาของหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 4 (แม่จอกหลวง) หรือหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ ในชื่อปัจจุบันการฟื้นฟูของหน่วยจัดการต้นน้ำ เริ่มจากการศึกษาวิจัยต้นไม้ที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อสภาพพื้นที่ได้ดีที่ สุด และนางพญาเสือโคร่งก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในพรรณไม้ซ่อมแซมป่า

มีการปลูกนางพญาเสือโคร่งตั้งแต่เริ่มจัดตั้งหน่วยฯ จนถึงวันนี้กว่า 30 ปีแล้ว จากต้นไม้เล็กๆ เมื่อเวลาผ่านไปลำต้นเติบใหญ่ กิ่งก้านขยายสาขา ทำให้มองเห็นขุนเขาเป็นสีชมพูไปทั้งลูกนอกจากภาพไกลตา ซากุระเมืองไทยที่อยู่ใกล้จนเอื้อมมือถึงก็มีให้เห็นดาษดื่นที่บริเวณลานกางเต็นท์ของนักท่องเที่ยวเราเดินลงจากเนินซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานหน่วยฯ ไปยังสนามหญ้าด้านล่าง มีเต็นท์สีสันสดใสกางกระจายอยู่โดยรอบ นักท่องเที่ยวหลายคนมุดเต็นท์ออกมาแต่เช้าตรู่เพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ที่หา ไม่ได้จากเมืองหลวง ในขณะที่หลายครอบครัวก็เริ่มติดไฟให้ความอบอุ่นอยู่ข้างที่พักต้องบอกก่อนว่า ภารกิจของหน่วยจัดการต้นน้ำไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาการท่องเที่ยว แต่เป็นงานอนุรักษ์ป่า ฟื้นฟู วิจัย และพัฒนาป่าไม้ ป่าต้นน้ำ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันรักษาป่า และกิจกรรมงานบำรุงป่า ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่คาดหวังว่าจะได้รับความสะดวกสบายเช่นเดียวกับการไป เที่ยวในหลายๆ อุทยานแห่งชาติ ถือเป็นความเชื่อที่ผิด“เราเห็นชัดเจนอย่างหนึ่งคือ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในท้องที่ค่อนข้างขาดวินัย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย เขามากางเต็นท์ มาดูดอกไม้สีชมพู ถ่ายรูปเสร็จกลับบ้าน ไม่เคยมีใครเข้ามาสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงวิธีการจัดการต้นน้ำว่าทำอย่างไร ไหนจะเรียกร้องสิ่งอำนวยความสะดวกอีกสารพัด จริงๆ เราไม่มีงบประมาณ ไม่มีแผนดำเนินการด้านการท่องเที่ยว แต่...เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา เราก็พยายามดูแล คือพอเริ่มมีการจัดการท่องเที่ยวก็จัดสร้างห้องน้ำชั่วคราวให้สำหรับนักท่อง เที่ยวที่มากางเต็นท์ ที่นี่ฟรีทุกอย่าง ไม่มีค่าใช้จ่าย”จริงๆ แล้วที่หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติอยู่เหมือนกัน แต่ก็อย่างที่บอก ทางหน่วยฯ ไม่มีหน้าที่ด้านการดูแลการท่องเที่ยวโดยตรง กอปรกับไม่มีเจ้าหน้าที่ มีเพียงลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น การท่องเที่ยวบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าจะไปได้ดีจึงไม่เกิดขุนแม่ยะเริ่ม โด่งดังมาตั้งแต่ปี 2548-2549 จากการที่มีนักเดินทางเข้ามาถ่ายภาพแล้วนำออกไปเผยแพร่ ทำให้ใครๆ ต่างย่ำเท้าขึ้นมาตามล่าหาซากุระเมืองไทยกันทุกปีการบันทึกภาพดอกไม้แสนสวยเริ่มขึ้นแล้ว เมื่อ 10 ปีก่อน กล้องถ่ายภาพอาจเป็นแค่อุปกรณ์ประจำครอบครัว แต่ดูเหมือนว่าวันนี้จะเป็นของใช้ส่วนตัวที่ใครๆ ก็มีฉันยืนดูพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เคลื่อนไหวผ่านหน้าไปมา แม้เมฆครึ้มบนฟ้าจะไม่เป็นใจให้ได้ภาพดอกไม้ที่สวยงามดังหวัง แต่รอยยิ้มที่ฝังอยู่บนใบหน้าของทุกคนก็บ่งบอกได้ถึงความพึงพอใจที่ได้เดิน ทางมาเยือน ขุนแม่ยะ

ช่างเคี่ยน ขุนเขาใต้เงาสวรรค์

หากให้เสนอชื่อเส้นทางจักรยานที่สวยที่สุดในเมืองไทย นักปั่นตัวยงคงยกมือให้กับเส้นทางสายดอยสุเทพ - ขุนช่างเคี่ยน - ห้วยตึงเฒ่า ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในเส้นทางที่สวยที่สุดแน่ๆ เพราะนอกจากสภาพป่าที่สมบูรณ์ท่ามกลางอุณหภูมิที่เย็นสบายแล้ว หากผ่านไปในฤดูดอกไม้บาน ก็จะได้เห็นสวรรค์สีชมพูตั้งอยู่ใจกลางหุบเขาด้วยไม่ใช่ทริปจักรยาน แต่ระยะเวลาในการเดินทางดูไม่แตกต่างกันเลย เพราะรถสองแถวสีแดงที่กำลังไต่ระดับจากบ้านม้งดอยปุยขึ้นไปบนความสูง 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำเวลาได้ไม่ดีนัก มันช้าจนเรียกว่าเอื่อยก็ไม่ผิด คนขับรถมอเตอร์ไซค์รุ่นเก่า 4-5 คัน วิ่งแซงขึ้นไปพร้อมกับโบกมือทักทายผู้โดยสารในรถ ฉันส่งยิ้มให้ พร้อมๆ กับเสนอหน้าออกไปนอกรถด้านขวาคือภูผาสูงชัน ต้นไม้รายทางมีขนาดใหญ่เทียบได้กับต้นไม้ในป่าดิบชื้นหลายๆ แห่ง แดดรำไรด้านซ้ายส่องให้เห็นหุบเหวลึก แต่คงไม่มีใครพลาดลงไป เพราะทิวต้นไม้น้อยใหญ่ เป็นเหมือนกำแพงธรรมชาติที่คอยปกป้องให้ทุกการเดินทางเป็นไปด้วยความปลอดภัยลมเย็นๆ ปะทะใบหน้าจนจมูกชื้น กว่าจะถึงจุดหมายก็เล่นเอาร่างกายชาดิก ฉันเดินเข้าไปหาอะไรอุ่นๆ คลายความหนาวเย็นในร้านกาแฟเล็กๆ ป้ายด้านหน้าเขียนไว้ว่า สถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน ไม่ผิดแล้ว ที่นี่เอง "สวรรค์ป่าซากุระ"กลิ่นหอมของเอสเปรสโซ่ กาแฟคั่วบดสายพันธุ์อราบิก้า ทำให้ฉันต้องละสายตาจากไร่กาแฟต้นกำเนิด แล้วมาฟัง ประเสริฐ คำออน นักวิชาการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ผละจากทีมนักวิจัยต่างชาติ มาเล่าถึงป่าซากุระเมืองไทยในไร่กาแฟให้ฟัง“เดิมเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ชาวบ้านทำการเกษตรไม่ได้ก็อพยพไป ทิ้งให้เป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ทาง UN และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้เข้ามาใช้เป็นพื้นที่ฝึกงานของเด็กนักศึกษาใน การวิจัยพืชเมืองหนาว ส่วนชาวบ้านเราก็ส่งเสริมให้มีการปลูกกาแฟอราบิก้าเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ หลัก แล้วก็ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งขึ้นมาซ่อมแซมป่าเมื่อประมาณปี 2532 ทำให้ระบบนิเวศน์บริเวณนี้ได้รับการฟื้นฟู”

ทั้งกาแฟและนางพญาเสือโคร่งจึงเติบโตขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพที่นางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงมากกว่า กอปรกับฤดูหนาวจะทิ้งใบและให้ดอกสีชมพูบานทั้งต้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมุ่งความสนใจไปที่ซากุระเมืองไทยหนักกว่าพืชชนิดอื่น

มองสำรวจไปรอบสถานีฯ พบว่ามีอาคารฝึกอบรมอยู่หลายหลัง ประเสริฐ บอกว่าอาคารเหล่านี้ใช้อบรมเกษตรกรในการผลิตกาแฟทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การคั่ว ไปจนกระทั่งถึงการบริโภค ทว่าปัจจุบันอาคารหลายหลังถูกแปรสภาพเป็นที่พักของนักท่องเที่ยว และปีนี้ก็เป็นปีแรกที่ทางสถานีฯ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักได้ โดยคิดค่าบริการหลังละ 600 บาท พักได้ราว 20 คน แถมมีเครื่องนอนและเครื่องครัวให้พร้อมจิบกาแฟเอสเปรสโซ่พอให้ร่างกายได้อบอุ่นแล้ว ฉันออกเดินตามทางไปยังไร่กาแฟ ทั้งสองข้างมีต้นกาแฟที่กำลังให้ผลผลิตอยู่หนาตา แทรกกันอยู่คือต้นนางพญาเสือโคร่งที่ผลิดอกเบ่งบาน มองเห็นสีชมพูเป็นทิวแถว บางส่วนก็ปลิดปลิวร่วงลงไปสร้างสีสันให้กับพื้นดินคล้ายงานศิลปะถ้าจะเดินให้ทั่วอาจต้องใช้เวลาถึง 2 วัน เพราะพื้นที่ 260 ไร่ในสถานีฯ ไม่ใช่สวนสาธารณะโล่งๆ ที่จะเดินได้รอบภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ฉันจึงเดินตรงไปยังแปลงพืชวิจัยที่ปลูกไม้เมืองหนาวไว้หลายชนิดตรงนี้มีทั้ง บ๊วย ท้อ พลับ และพลัม ซึ่งต้นหลังนี้กำลังออกดอกสีขาวบานสะพรั่ง สวยงามไม่แพ้นางพญาเสือโคร่งเลยทีเดียวเราเก็บภาพที่สวนพลัมอยู่นาน จนพระอาทิตย์ใกล้จะลับทิวนางพญาเสือโคร่งแล้วจึงนึกได้ว่า ยังไม่มีรูปนางพญาเสือโคร่งเลยสักใบ จะช้าอยู่ก็คงไม่ทันการณ์ เราเดินตรงไปยังต้นที่เป็นไฮไลต์ของที่นี่ทันทีนางพญาเสือโคร่งต้นแรกที่ปลูกบนสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนอยู่ใกล้กับบ่อน้ำ ใครๆ ก็มารุมถ่ายภาพ เมื่อมองขึ้นไปจากจุดนี้จะเห็นดอกไม้สีชมพูอยู่รอบตัวเรา คล้ายยืนอยู่ท่ามกลางหุบสวรรค์ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม นักปั่นน่องเหล็กทั้งหลายจึงยกให้เส้นทางสายดอยปุย - ขุนช่างเคี่ยน เป็นหนึ่งในเส้นทางจักรยานที่สวยที่สุดในเมืองไทย

.....................

การเดินทาง

ไปขุนแม่ยะ จากเชียงใหม่ให้ใช้เส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง ที่หลักกิโลเมตร 34 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 (แม่มาลัย-ปาย) ลัดเลาะตามไหล่เขาไปจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 67+500 บริเวณด่านแม่ยะ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนดินประมาณ 8 กิโลเมตรก็ถึง แนะนำว่าควรใช้รถกระบะเพราะถนนค่อนข้างมีอุปสรรคและสูงชัน หากไม่มีสามารถใช้บริการรถกระบะจากด่านแม่ยะถึงหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะได้ ติดต่อ สมบูรณ์ ยศสมุทร โทร. 08-0129-5406

สำหรับขุนช่างเคี่ยน อยู่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้เส้นทางดอยสุเทพ-ดอยปุย ผ่านพระธาตุดอยสุเทพ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จากนั้นถนนจะเริ่มแคบลง เป็นทางคดเคี้ยวเข้าป่า ผ่านหมู่บ้านม้งดอยปุยขึ้นไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงสถานีเกษตรวิจัยที่สูงขุนช่างเคี่ยน สอบถามเส้นทางเพิ่มเติมที่ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ โทร. 0-5324-88604 และ 0-5324-8607

ที่พัก

นักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์ไปกางได้ที่ลานกางเต็นท์หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะได้ ไม่เสียค่าบริการ หรือจะพักที่อำเภอปาย แนะนำ เบลล์ วิลล่า รีสอร์ท โทร. 0-5369-8226-7, 0-2693-2895, 0-2693-3990 Ext. 601, 604

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น