วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

โลเลทัวร์ทริป 3




















กลับมาแล้วครับโลเลทัวร์ทริปนี้ม่ผมป้าทรายและนายเขียวหวาน...หมายกำหนดการที่ตั้งใจไว้คือไปภูเรือ...ข้ามไปฝั่งลาวที่ท่าลี้...ไปเชียงคาน...ไปหนองคาย...นั่งรถไฟไปเวียงจัน...แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ตามสไตล์โลเลทัวร์
เรื่องเล่าจากเชียงคาน
ย่างเข้าหน้าแล้ง น้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลงจนมองเห็นตลิ่งสูง ถัดจากตลิ่งสูงลงไปมีเรือ ๔-๕ ลำลอยลำอยู่
บนเรือ คนหาปลากำลังเตรียมเรือบ่ายหน้าออกสู่แม่น้ำเพื่อหาปลาอีกครั้ง หลังการกลับเข้าฝั่งในตอนเช้าตรู่... กล่าวกันโดยทั่วไปแล้ว ผู้คนที่สร้างบ้านเรือนอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำโขงทั้ง ลาว-ไทยต่างได้พึ่งพาแม่น้ำสายนี้มาหลายชั่วอายุคน แม่น้ำจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนตั้งแต่เช้าจรดเย็น หรือถ้าไม่กล่าวเกินเลยไปนัก แม่น้ำเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย หลากหลายชีวิตริมฝั่งน้ำหมายถึงหลากหลายอาชีพที่เกิดขึ้น บางคนหาปลา บางคนทำการเกษตรริมน้ำหรือกระทั่งบนดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำยามหน้าแล้ง บางคนมีเรือนำเที่ยว แม้ว่าบางคนจะไม่ได้มีอาชีพอะไรที่ต้องพึ่งพาสายน้ำ แต่ในบางวันก็เลือกเอาริมแม่น้ำเป็นที่พักผ่อนอารมณ์

หากนับอำเภอชายแดนที่เป็นพรมแดนของประเทศลาว-ไทยโดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดนแล้ว อำเภอหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้อำเภออื่นๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำโขงคือ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เพราะอำเภอแห่งนี้มีแม่น้ำถึง ๓ สายไหลผ่าน และมีแม่น้ำ ๒ สายที่ไหลเป็นเส้นแบ่งพรมแดนลาว-ไทย และมีแม่น้ำ ๒ สายที่เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง

เชียงคาน, วันวาน-วันนี้

เชียงคาน เป็นอำเภอชายแดนของจังหวัดเลย อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราว ๕๐ กิโลเมตร อำเภอเชียงคานเป็นเมืองริมแม่น้ำโขงที่สงบเงียบ และมีสถาปัตยกรรมทางศาสนาคล้ายคลึงกับทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไม่ ได้แตกต่างจากอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายเท่าใดนัก แต่จุดที่แตกต่างกันออกไปคือสำเนียงในการพูด คนทั่วไปได้ให้นิยามสำเนียงการพูดของคนจังหวัดเลยว่า สำเนียงการพูดแบบ 'คนไทเลย' จากเอกสารที่ วัดศรีคูณ เมืองวัดเก่าแก่ของอำเภอเชียงคาน ได้เล่าถึงการสร้างบ้านแปงเมืองแห่งนี้เอาไว้ว่า เมืองเชียงคานในพงศาวดารล้านช้างบ่งบอกว่า ขุนคาน ผู้เป็นโอรสของ 'ขุนครัว' ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก 'ขุนลอ' เป็นผู้สร้างบ้านแปงเมืองเชียงคานขึ้นมา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสได้เข้ามาทำสงครามและยึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด ชาวเมืองเชียงคานทั้งหมดจึงได้อพยพหนีภัยไปอยู่ที่ เมืองปากเหือง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเหือง เรียกถิ่นฐานแห่งใหม่นี้ว่า ‘บ้านปากเหือง’ ที่เรียกเช่นนี้เพราะตัวเมืองตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่แม่น้ำเหืองไหลบรรจบ กับแม่น้ำโขง และเมืองปากเหืองเดิมก็ถูกเรียกว่า ‘บ้านปากเหืองเก่า’ ต่อมาได้เปลี่ยนไปเรียกเมืองแห่งใหม่นี้ว่า ‘บ้านเชียงคานใหม่’ เมื่อฝรั่งเศสรุกคืบมาครอบครองแผ่นดินบริเวณแขวงไซยะบุรีเพิ่มเติม ผู้คนจึงพากันอพยพไปอยู่บ้านท่านาจันทร์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และอยู่ห่างจากอำเภอเชียงคานในปัจจุบันราว ๒ กิโลเมตร ปัจจุบันเรียกว่า ‘บ้านน้อย’ เมื่อลองไล่เลียงสถานะความเป็นมาของเชียงคานแล้วจะ พบว่า การสร้างบ้านแปงเมืองกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เมืองแห่งนี้ก็ไม่เคยตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำแม้แต่ครั้งเดียว นั่นย่อมย้ำเตือนให้เห็นว่า แม่น้ำสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนเพียงใด ปัจจุบันหากพูดถึงเชียงคาน หลายคนคงอดที่จะคิดถึงเรื่องราวของ แก่งคุดคู้ ไม่ได้ และเมื่อลองไปถามคนเชียงคานว่าสถานที่แห่งไหนที่ทำให้คนภายนอกรู้จักเมืองเชียงคานมากขึ้น หลายคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า 'แก่งคุดคู้'

'แก่งคุดคู้' มีลักษณะเป็นแก่งหินขนาดใหญ่ที่ทอดตัวขวางแม่น้ำโขงเป็น เขื่อนธรรมชาติ ในช่วงหน้าน้ำจะจมอยู่ใต้น้ำ ด้วยความที่แก่งคุดคู้เป็นกลุ่มหินขนาดใหญ่ ในยามที่น้ำไหลกระทบจึงเกิดเสียงดังชวนให้หวาดกลัว ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าเรื่องราวการเกิดขึ้น ของแก่งคุดคู้ให้ลูกหลานฟังสืบต่อกันมาว่า นานมาแล้วมีนายพรานบ้านอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคนหนึ่งชื่อ ตาจึ่งคึ่ง -จึ่งคึ่ง เป็นคำขยายลักษณะของนามเพื่อให้เห็นความแจ่มชัด เช่น แดงจึ่งคึ่ง หมายถึงแดงมาก- นายพรานผู้นี้เป็นคนมีรูปร่างสูงใหญ่มีจมูกสีแดงใหญ่โต รูจมูกทั้งสองกว้างมาก ในยามที่ตาจึ่งคึ่งนอนหลับ เด็กๆ ก็แอบเข้าไปเล่นสะบ้าในรูจมูกได้อย่างสบาย ('คนไทเลย' จึงมีคำล้อเลียนคนที่ตัวใหญ่จมูกโตว่า จึ่งคึ่งดังแดงนอนตะแคงจู๋ฟ้า เด็กน้อยเล่นสะบ้าอยู่ในฮูดัง) 'ตาจึ่งคึ่ง' เป็นผู้มีความสามารถในการล่าสัตว์ ทั้งบก และน้ำ ความเก่งกาจของพรานจึ่งคึ่งเป็นที่เลื่องลือไปไกลหลายหมู่บ้าน บ่ายวันหนึ่งขณะตาจึ่งคึ่งกำลังหาปลาอยู่ในแม่น้ำโขงสาย ตาก็มองขึ้นไปบนฝั่งแล้วไปสบสายตากับควายเงินตัวใหญ่ยืนกินน้ำอยู่ฝั่งตรง ข้าม ฉับพลันความปรารถนาในการได้กินเนื้อของควายเงินตัวนั้นก็วิ่งเข้ามาเกาะกุม หัวใจ ตาจึ่งคึ่งจึงวางเครื่องมือหาปลาลงแล้วมุ่งหน้าไปหาอาวุธในการล่าสัตว์ พอได้อาวุธแกก็มุ่งหน้าสู่อีกฝั่งด้วยใจระทึก เมื่อขึ้นฝั่งได้แกก็แอบซุ่มอยู่ตรงพุ่มไม้พร้อมกับยกปืนขึ้นมาเล็งใส่ควาย เงินตัวนั้น แต่ขณะที่กำลังจะเหนี่ยวไกปืน ก็พอดีมีเรือสินค้าลำหนึ่งวิ่งมาจากทางใต้ ควายเงินพอได้ยินเสียงเรือสินค้าก็ตกใจวิ่งหนีเข้าป่า กระสุนของตาจึ่งคึ่งที่ปล่อยออกไปจึงพลาดเป้าหมาย ด้วยความโมโหพ่อค้าที่เป็นต้นเหตุให้การล่าควายเงินตัวนั้นของแกไม่ ประสบผลสำเร็จ แกจึงยกปืนขึ้นประทับบ่าแล้วยิงไปยังภูเขาลูกหนึ่งที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง หวังระบายความโกรธที่เกิดขึ้น ด้วยความรุนแรงของกระสุนปืนทำให้ยอดของหน้าผาของภูเขาขาดหวิ่นลง ในเวลาต่อมาหน้าผาของภูเขาลูกนั้นชาวบ้านก็เรียกกันสืบต่อมาว่า ผาแบ่น และหมู่บ้านที่อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงก็มีชื่อเรียกว่า บ้านผาแบ่น (คำว่า ‘แบ่น’ ในภาษาไทเลยหมายถึงขาดออกนิดหน่อย ส่วนในบางจังหวัดของภาคอีสานเรียกว่า ‘บิ่น’ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน) หลังจากจมอยู่กับความผิดหวังได้ไม่นาน 'ตาจึ่งคึ่ง' จึงได้คิดค้นหาวิธีที่จะทำให้เรือสินค้าไม่ผ่านมารบกวนการล่าสัตว์ของตัวเอง ตาจึ่งคึ่งจึงมุ่งหน้าสู่ภูเขา เพื่อลำเลียงก้อนหินจากภูเขามากั้นแม่น้ำ เพื่อไม่ให้เรือผ่าน รอบแล้วรอบเล่าที่ตาจึ่งคึ่งเพียรพยายามถมแม่น้ำด้วยก้อนหินจากภูเขา การกระทำของ 'ตาจึ่งคึ่ง' หาได้หลุดรอดสายตาของ จั่วน้อย-สามเณรที่เฝ้าดูอยู่ไปได้ เมื่อเห็นเหตุการณ์ดังนั้น 'จั่วน้อย' ก็คิดว่าถ้าตาจึ่งคึ่งนำหินมากั้นแม่น้ำโขงได้สำเร็จ จะสร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งคนและสัตว์ที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขงใน การดำรงชีพ จั่วน้อยจึงออกอุบายให้ตาจึ่งคึ่งนำไม้ไผ่มาทำเป็นไม้คาน เพื่อจะได้หาบก้อนหินโดยไม่ต้องแบกมาทีละก้อนอีก เมื่อได้ฟัง ตาจึ่งคึ่งก็เห็นคล้อยตาม จึงไปนำไม้ไผ่มาทำเป็นไม้คานหาบหินจากภูเขาลงมาถมแม่น้ำ ในระหว่างที่หาบไปหลายรอบ ไม้ไผ่ที่นำมาทำไม้คานเริ่มกรอบแห้ง และในที่สุดก็รับน้ำหนักหินไม่ไหว แล้วหักลง ความคมของไม้ไผ่ที่นำมาทำเป็นไม้คาน ซึ่งตอนนี้ได้หักลงได้บาดเข้าที่คอของตาจึ่งคึ่งจนถึงแก่ความตาย ร่างของตาจึ่งคึ่งนอนตายในลักษณะคุดคู้ เพราะความทรมานก่อนที่จะสิ้นใจตาย

ชาวบ้านชาวเมืองจึงเรียกลักษณะการนอนตายของตาจึ่งคึ่งว่า 'คุดคู้' และแก่งหินที่ตาจึ่งคึ่งเอาหินมาถมทับลงไปในแม่น้ำนั้นว่า ‘แก่งคุดคู้’

album

2 ความคิดเห็น:

  1. กลับมาแล้วครับโลเลทัวร์ทริปนี้ม่ผมป้าทรายและนายเขียวหวาน...หมายกำหนดการที่ตั้งใจไว้คือไปภูเรือ...ข้ามไปฝั่งลาวที่ท่าลี้...ไปเชียงคาน...ไปหนองคาย...นั่งรถไฟไปเวียงจัน...แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ตามสไตล์โลเลทัวร์
    (แผนที่เส้นทางของทริปนี้)

    ตอบลบ
  2. ออกเดินทางจากกรุงเทพห้าทุ่มตรงของวันที่ 10 รถติดมากๆไปถึงท่าลี้ประมาณบ่ายสาม

    ตอบลบ